มีอย่างน้อย 5 พรรคการเมืองที่ไปขอคำปรึกษาจาก นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี
คำพูดเช่นนี้หากออกจากปากของคนอื่นอาจฟังคล้ายเป็นการคุยโวโอ้อวด แต่เมื่อออกจากปาก นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ก็เข้าใจได้
เนื่องจากรากฐาน นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ไม่ธรรมดา
เมื่อเป็นอาจารย์ก็เป็นอาจารย์ที่มีความโดดเด่น เมื่อมาเป็นโฆษกของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็เป็นเหมือนบันไดหกไปสู่พรรคประชาธิปัตย์
38 ปีทางการเมืองจึงหนักแน่น มั่นคง
ถามว่าความหนักแน่นและมั่นคงของ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี อยู่ตรงไหน
ฐานหนึ่ง วางอยู่ในฐานะอาจารย์ในยุคก่อนและหลังสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516 ฐานหนึ่ง วางอยู่ในฐานะที่ได้ความวางใจจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
เมื่อเข้าสู่พรรคประชาธิปัตย์จึงเหมือน “พยัคฆ์ เสียบปีก”
ในยุคก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ในยุคก่อนและหลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 อาจเป็นช่วงขาลงของพรรคประชาธิปัตย์
แต่ “ขาลง” นั่นแหละคือ “โอกาส”
ลองสำรวจดูว่าคนของพรรคประชาธิปัตย์ไปมีบทบาทอย่างไรในทางการเมือง
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็พรรครวมพลังประชาชาติไทย นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ก็เร่ร่อนจากพรรครวมพลังประชาชาติไทยมาอยู่พรรคไทยภักดี
ในพรรคพลังประชารัฐก็มีคนของพรรคประชาธิปัตย์
ขณะเดียวกัน ในพรรครวมไทยสร้างชาติก็เหมือนกับย้ายพรรคประชาธิปัตย์เข้ามา ไม่ว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ไม่ว่า นายวิทยา แก้วภราดัย
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นฐานวางเท้าให้ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี
เส้นทางของ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี จึงเป็นเส้นทางที่แทบมิได้อยู่เหนือความคาดหมาย
เชื่อกันว่าน่าจะเป็นเส้นทางเดียวกันกับของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายวิทยา แก้วภราดัย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
เพราะอย่างน้อย “ลูกสาว” ก็ไปรออยู่ ก่อนแล้ว