คอลัมน์ วิเคราะห์การมือง
เส้นแบ่ง การเมือง
คำวินิจฉัย 10 พฤศจิกายน
จุดจบ หรือเริ่มต้น
คําวินิจฉัยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในกรณีของ “อานนท์ รุ้ง ไมค์” มากด้วยความแหลมคม
หากคำปราศรัยซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 คือ “เส้นแบ่ง” สำคัญในทางการเมือง คำวินิจฉัยใน วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ก็ยิ่งเป็น “เส้นแบ่ง”
เป็นการขีดเส้นแบ่งในทาง “ความคิด” และในทาง “การเมือง”
บรรดา “นักร้อง” ที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของเยาวรุ่นรุ่นใหม่ ก็ย่อมจะบังเกิดความคึกคักและ มากด้วยความพร้อมที่จะขยายผล
ดังกรณีที่จะขยายผลไปยัง “พรรคก้าวไกล” อย่างรีบเร่ง
ความแหลมคมเป็นอย่างมากของ “คำวินิจฉัย” อยู่ที่การขยายผลในทาง “การเมือง”
อย่างที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใช้คำว่า “พันธมิตร” และ “เครือข่าย” ซึ่งหมายรวมและครอบคลุมไปยังบรรดาคดีอันเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
หากมองว่าบทบาทของพรรคก้าวไกลเป็น “พันธมิตร” อะไรจะเกิดขึ้น
เพราะ ส.ส.ของพรรคก้าวไกลจำนวนไม่น้อย ไม่เพียงแต่ไปปรากฏตัวในการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายครั้ง หากแต่ยังได้เข้าไปเอาตำแหน่งประกันตัว “ผู้ต้องหา”
อย่างนี้จะหมายรวมและฟันธงว่าเป็น “ความผิด” หรือไม่
ยิ่งกว่านั้น ที่น่าจับตาก็มิได้อยู่ที่ “นักร้อง” หากแต่อยู่ที่บรรดา “กิจกรรม” อันเกิดขึ้นมาแล้ว
ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ คำประกาศแสดงการไม่ยอมรับต่อคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบริเวณหน้าศาลรัฐธรรมนูญจะมองและประเมินอย่างไร
และกิจกรรมของ “ราษฎรประสงค์ ยกเลิก 112” จะทำได้หรือไม่
เพราะในความเป็นจริงหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จำนวนคนที่แสดงการเห็นด้วยก็ทะยานจากหลัก 200,000 ไปสู่หลัก 1,000,000 กว่าอย่างรวดเร็วและไม่หยุดยั้ง
ถามว่าบรรดา “นักร้อง” จะมองปรากฏการณ์นี้อย่างไร
ความเชื่อโดยพื้นฐานก็คือ ความเชื่อที่ว่าทุกอย่างน่าจะสงบจบลงหลัง “คำวินิจฉัย”
กระนั้น หากติดตามการเคลื่อนไหวไม่ว่าจะการตั้งข้อสังเกตของ “นักวิชาการ” ในทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น “ปฏิกิริยา” ทางสื่อโซเชี่ยล มีเดีย
ดูเหมือนว่ากรณี 10 พฤศจิกายน น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่จบมากกว่า