วิษณุ ชี้ ถ้าศาลตัดสินไม่ครบ 8 ปี ‘ตู่’ ก็กลับมา ถ้าเกิน ‘ป้อม’ ก็รักษาการนายกฯต่อ ขึ้นอยู่กับประธานรัฐสภาจะเรียกประชุมเพื่อเลือกนายกฯ
12 ก.ย. 2565 – ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์คำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รมว.กลาโหม ที่ระบุมีการตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิจารณาประเด็นการดำรงตำแหน่ง 8 ปี เป็นสิ่งที่ทำได้หรือไม่ เพราะทำเพื่อคนๆ เดียว
นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ขัดหลักการ เพราะเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เป็นตำแหน่งทางราชการ และตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นปัญหาของประเทศ มีการตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค.2565
สิ่งที่สื่อถามถือเป็นคำให้การของพล.อ.ประยุทธ์ ถูกบ้าง ผิดบ้าง จริงบ้างไม่รู้ เขาก็ให้การไปแล้วตอบไปตามประเด็นที่ผู้ร้องตั้งประเด็นไว้ สุดท้ายจะฟังขึ้นหรือไม่อยู่ที่ศาล อย่างคำชี้แจงบางประเด็นของพล.อ.ประยุทธ์ ตนก็ไม่เห็นด้วย เพราะไม่จำเป็นต้องไปตอบ แต่ทีมกฎหมายเห็นว่าควรตอบทุกข้อ อย่างเช่นการอ้างคำวินิจฉัยต่างๆ ก่อนหน้านี้ ซึ่งก็ไม่ตรงกับประเด็นที่ถูกร้องแล้วจะไปชี้แจงทำไม แต่ไม่เป็นไร อย่างมากก็เสมอตัวไม่ขาดทุนอะไร ดังนั้นขอให้รอฟังคำพิพากษา ไม่มีประโยชน์ที่ตนจะไปวิพากษ์วิจารณ์ ขอให้รอฟังคำวิจฉัยศาลซึ่งจะตัดสินในเร็ว ๆ นี้
เมื่อถามว่าศาลนัดประชุมวันที่ 14 ก.ย. ในส่วนของรัฐบาลต้องเตรียมแนวทางรับมืออย่างไรบ้าง นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้เตรียมแนวทางรองรับไว้ ถ้าศาลตัดสินว่ายังไม่ครบ 8 ปี วันรุ่งขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็กลับมาทำงาน ถ้าศาลบอกว่านับตั้งแต่ปี 2557 พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ต้องกลับมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็รักษาการนายกฯไป ไม่รู้กี่วัน ขึ้นอยู่กับประธานรัฐสภาจะเรียกประชุมเพื่อเลือกนายกฯ และจนกว่านายกฯและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณฯ ถึงจะพ้นไป
สมมุติศาลตัดสินว่านับตั้งแต่ปี 2557 เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ พ้นไปก็สามารถรักษาการเองได้ แต่ควรหรือไม่นั้น ก็ไม่ควร เพราะพล.อ.ประวิตร ก็รักษาการไปจะกว่ารัฐสภาจะเลือกนายกฯคนใหม่ ส่วนอำนาจยุบสภา ทำได้หรือไม่นั้น ตนพูดมา 9 ครั้งแล้วว่า ทางทฤษฎีทำได้ แต่ทางปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่าย
อย่างสมัยพฤษภาทมิฬ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ลาออกจากนายกฯ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นรองนายกฯ รักษาราชการแทนนายกฯขณะนั้น เตรียมคิดว่าจะยุบสภา ซึ่งมีอำนาจ แต่คิดไปคิดมาให้เขาไปหานายกฯใหม่มายุบดีกว่า จนได้นายอานันท์ ปันยารชุน มาเป็นนายกฯ แล้วเข้ามายุบสภาในที่สุด ดังนั้น ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมอะไรหลายอย่าง