ส้นเท้าแตก ปัญหาหนักใจของทุกเพศทุกวัย จะแก้ไขได้อย่างไรให้เด็ดขาด การตะไบ เอากรรไกรเล็มออก ใช่วิธีที่ถูกต้องหรือไม่
ส้นเท้าแตก คืออะไร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภญ. บุญธิดา มระกูล ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า อาการส้นเท้าแตก เป็นภาวะที่เกิดรอยแยกหรือรอยแตกในผิวหนังกำพร้าบริเวณส้นเท้า เกิดจากภาวะผิวขาดน้ำและอาจเกิดร่วมกับภาวะเคราตินมากเกินไป
ส้นเท้าแตก อันตรายหรือไม่
ในช่วงแรกรอยแตกของผิวหนังเหล่านี้จะเกิดเพียงเล็กน้อยแต่เมื่อปล่อยทิ้งไว้ บริเวณเท้าซึ่งเป็นบริเวณที่ได้รับความกดดันและการเสียดสีจากการเดินหรือทำกิจกรรมต่างๆ ส่งผลทำให้รอยแตกลึกขึ้นจนถึงชั้นผิวหนังแท้ เริ่มมีเลือดออก และเกิดความเจ็บปวดตามน้ำหนักตัวและกิจกรรมที่ทำ
ถึงแม้ในกรณีส่วนใหญ่รอยแห้งแตกเหล่านี้เพียงแค่ก่อความรำคาญและทำให้ไม่สวยงาม อย่างไรก็ตามหากปล่อยทิ้งไว้จนรอยแตกขยายไปถึงชั้นผิวหนังแท้ การยืน เดิน หรือแม้แต่นอนอยู่บนเตียงอาจทำให้เกิดการเจ็บปวดได้
รอยแตกดังกล่าวทำให้ผิวหนังหนาตัวขึ้น เกิดเป็นแผลพุพอง และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและโรคเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบโดยเฉพาะในผู้ป่วยเบาหวานและโรคหลอดเลือดส่วนปลาย นอกจากผู้ป่วยเบาหวานแล้วโรคอื่นๆที่มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแห้งแตกของส้นเท้าได้มากเช่น ผู้มีภาวะ พร่องฮอร์โมนไทรอยด์ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และโรคหนังแข็ง เป็นต้น
วิธีรักษา อาการส้นเท้าแตก
หากมีอาการส้นเท้าแตกเกิดขึ้นแล้ว หากยังมีอาการน้อยๆ ยังมีรอยแยกรอยแตกไม่มากนัก หรือส้นเท้ายังไม่หนามาก สามารถลดการเกิดความหนาตัวผิดปกติของผิวหนังชั้นนอกด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- แช่เท้าด้วยน้ำอุ่น 10-15 นาที เพื่อให้ผิวหนังอ่อนนุ่มขึ้น
- ขัดผิวด้วยหินขัดผิวโดยเฉพาะ หรือตะไบผิวเบาๆ เพื่อให้เซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วออกไป แต่อย่าขัดหรือตะไบผิวอย่างรุนแรง ควรทำเฉพาะส่วนที่ผิวหนังหลุดลอกออกมาเท่านั้น
- ใช้สารที่มีฤทธิ์เร่งผลัดเซลล์ผิว เช่น ยูเรีย กรดแลคติก และกลีเซอรีน (ตัวอย่างเช่น DIABEDERM UREA CREAM 20%) ที่ช่วยดูดความชุ่มชื้นจากผิวชั้นหนังแท้เข้าสู่ชั้นหนังกำพร้า ช่วยลดการสูญเสียน้ำจากผิวชั้นในสู่ชั้นนอกของผิวชั้นหนังกำพร้า มีฤทธิ์ในการเร่งผลัดเซลล์ผิว ลดการลอกเป็นขุยของผิวชั้นหนังกำพร้าได้ โดยความเข้มข้นของยูเรียที่ใช้ควรเลือกให้เหมาะสมกับความรุนแรงของรอยโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
- ใช้สารเพิ่มความชุ่มชื้นและฟื้นฟูเกราะป้องกันผิว เพื่อช่วยทำให้ผิวมีความชุ่มชื้น ปกคลุมผิวชั้นนอกป้องกันการสูญเสียน้ำจากผิว เช่น ครีม โลชั่น เจล และสเปรย์ (ตัวอย่างเช่น Vitamin E Cream MedMaker) ควรทาในตอนกลางคืนก่อนการเข้านอนเพื่อลดความเสี่ยงต่อการลื่นล้ม และอาจมีประสิทธิภาพดีขึ้นหากสวมถุงเท้าทับ
สารที่มีฤทธิ์เร่งผลัดเซลล์ผิว และสารเพิ่มความชุ่มชื้นผิว ควรใช้ควบคู่ไปด้วยกันเพื่อประสิทธิภาพที่ดีในการรักษาอาการส้นเท้าแตกอย่างได้ผลและปลอดภัย แต่สำหรับสารเร่งผลัดเซลล์ผิว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาปริมาณความเข้มข้นที่เหมาะสมกับอาการที่เราเป็นโดยเฉพาะ
- “ส้นเท้าแตก” เกิดจากอะไร รักษาอย่างไรถึงจะถูกวิธี
สำหรับใครที่มีอาการส้นเท้าแตกหนักมาก มีรอยโรคลึกและเป็นแผล สามารถรักษาอาการส้นเท้าแตกได้ ดังนี้
- ปิดรอยแตกที่เกิดขึ้นทันทีเพื่อป้องกันการเจ็บปวด และการติดเชื้อที่อาจตามมา
- อาจใช้กาวติดผิว cyanoacrylate ที่เป็นสารยึดติดผิวหนัง ช่วยให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการรักษาบาดแผล และช่วยป้องกันการติดเชื้อจุลชีพ
- รักษาร่วมกับยาปฏิชีวนะทาเฉพาะที่ ซึ่งเหมาะสมกับชนิดของเชื้อเมื่อเกิดการติดเชื้อ และการลดรอยแตกของผิวโดยการให้ความชุ่มชื้น กำจัดผิวที่มีเคราตินมากเกิน และการฟื้นฟูผิว
หากมีอาการส้นเท้าแตกหนักมากจนมีแผล ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาการรักษาด้วยยา ควบคู่ไปกับการรักษาแผลไม่ให้ติดเชื้อ เนื่องจากเท้าเป็นอวัยวะที่ติดเชื้อได้ง่าย
วิธีป้องกันอาการส้นเท้าแตก ไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคต
- หมั่นให้ความชุ่มชื้นกับส้นเท้าเป็นประจำ ด้วยการทาครีมเพิ่มความชุ่มชื้น และทำความสะอาดเป็นอย่างดีอยู่เสมอ
- เมื่อสวมรองเท้าผ้าใบ หรือรองเท้าอื่นๆ ควรใช้แผ่นรองส้นเท้าที่มีความนุ่ม เพื่อลดแรงกดดันและการเสียดสี
- ไม่สวมรองเท้าที่พื้นรองเท้ามีความแข็งจนเกินไป หรือสวมรองเท้าที่มีพื้นแข็งนานหลายชั่วโมงต่อวัน
- สวมถุงเท้าก่อนสวมรองเท้าผ้าใบ หรือรองเท้าอื่นๆ
- ไม่สวมรองเท้าที่คับจนเกินไป การสวมรองเท้าคับหรือพอดีเท้ามากเกินไปอาจทำให้เกิดการเสียดสีบ่อยจนเกิดผิวหนังที่หนาขึ้น และขาดความชุ่มชื้นจนเกิดส้นเท้าแตกในเวลาต่อมาได้