โดยทั่วไป ผมของคนเราจะร่วงประมาณ 100 เส้นต่อวัน หากเกินกว่านั้นควรเริ่มสงสัยตัวเอง ผมบาง-ผมร่วง เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคหรือความผิดปกติในร่างกาย การที่ผมร่วงจนผมบนศีรษะดูบาง อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น กรรมพันธุ์ซึ่งพบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่ส่วนใหญ่มักเกิดกับผู้ชายมากกว่าเนื่องจากอิทธิพลของฮอร์โมนเพศชาย
ปัจจุบันมี วิธีรักษา “ผมบาง-ผมร่วง” ด้วยเทคโนโลยีแสง LED และเลเซอร์กระตุ้นการเจริญของเซลล์รากผม ช่วยลดปัญหาผมร่วงและผมบาง บางชนิดได้
ปกติแล้วจะมีผมที่หยุดการเจริญและหลุดร่วงไป วันละ 50-100 เส้น แต่ในบางภาวะอาจทำให้ผมร่วงได้มากกว่าปกติ เช่น มีประวัติพันธุกรรม ผมร่วง ผมบาง หัวล้าน ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากพ่อแม่ คุณแม่หลังคลอด การเจ็บป่วยเรื้อรัง การเสียเลือด การใช้ยาบางชนิด การขาดสารอาหาร และภาวะเครียดทางจิตใจ
- “เครียด” ทำ “ผมร่วง” ได้จริง หรือแค่คิดไปเอง?
ผมร่วง เกิดจากอะไร
พญ.ศกุนี นิรันดร์วิชย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาตจวิทยา รพ. สมิติเวช สุขุมวิท ระบุว่า ในทางการแพทย์ จะแบ่งภาวะผมร่วง ออกเป็น ผมร่วงแบบไม่มีแผลเป็น (non-scarring alopecia) และผมร่วงแบบมีแผลเป็น (scarring alopecia) สำหรับปัจจัยที่ทำให้เกิดผมร่วง จะแบ่งออกเป็น ปัจจัยภายนอก และ ปัจจัยภายในที่กระตุ้นให้ผมร่วงผิดปกติ
- 7 อาหารหยุดปัญหา “ผมร่วง”
ปัจจัยภายนอกที่ทำให้ผมร่วง ผมบาง
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยากดภูมิคุ้มกัน ยาเคมีบำบัด ยาละลายลิ่มเลือด ยากันชัก ยาลดความดันบางชนิด ยารักษาโรคข้อเสื่อมข้ออักเสบ ยาลดความเครียดบางชนิด ยารักษาสิวที่มีส่วนผสมของวิตามินเอ ยาคุมกำเนิด
- การติดเชื้อราที่หนังศีรษะ
- การฉายรังสีจากการรักษามะเร็ง
- หนังศีรษะได้รับการบาดเจ็บจากการถูกดึง แกะ เกา จนทำให้เป็นแผล
- เส้นผมถูกดึงรั้งต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น จากที่ติดผม การมัดผม การถักเปียติดหนังศีรษะ
- สารเคมีในผลิตภัณฑ์ดัด ย้อม ทำสีผม
- เส้นผมที่โดนความร้อนสูงจากที่หนีบผม หรือแสงแดด ทำให้เคราตินในเส้นผมถูกทำลาย ผมจึงเปราะง่าย ขาดร่วงง่าย
ปัจจัยภายในที่ทำให้ผมร่วง ผมบาง
- ผมร่วงจากกรรมพันธุ์และฮอร์โมน (Androgenetic alopecia, AGA) มักพบเด่นในเพศชาย เกิดได้ทั้งจากการถ่ายทอดยีนเด่นบนโครโมโซมร่างกาย และการถ่ายทอดแบบหลายปัจจัยจากหลายยีนร่วมกับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม (multifactorial inheritance) ทำให้หนังศีรษะมีความไวต่อฮอร์โมนดีเอชที dihydrotestosterone (DHT) จึงทำให้เส้นผมลีบและร่วงง่าย มีอายุสั้นกว่าปกติ ส่วนใหญ่อาการจะเริ่มแสดงให้เห็นตั้งแต่อายุ 18-25 ปี และจะร่วงเพิ่มมากขึ้นตามวัย วิธีสังเกต คือ ผมบริเวณด้านหน้าและ ตรงกลางศีรษะ จะบางลง และพบประวัติครอบครัวเป็นโรคศีรษะล้านจากพันธุกรรม
- โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia areata, AA) เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ ทำให้เซลล์รอบรากผมอักเสบ จนไม่สามารถผลิตเส้นผมขึ้นมาใหม่ได้
- ผมร่วงจากความเครียดของร่างกายหรือการเจ็บป่วยรุนแรง (Telogen effluvium) เกิดจากร่างกายมีการเจ็บป่วยรุนแรงไม่ว่าจะเป็นทางใจหรือทางกาย ส่งผลให้เส้นผมระยะ Telogen หลุดร่วงออกมาเร็วและมากกว่าปกติ ผมมักร่วงหลังการเจ็บป่วยประมาณ 3 เดือน ภาวะเจ็บป่วยที่กระตุ้นผมร่วงชนิดนี้ เช่น มีไข้สูง ไข้เลือดออก ความเครียดสะสม การเปลี่ยนแปลงระดับของฮอร์โมนแบบเฉียบพลันซึ่งพบได้ในคุณแม่หลังคลอดที่มักจะมีอาการ ผมร่วงหลังคลอด เป็นต้น
- ภาวะดึงผมที่เกิดจากปัญหาทางจิตใจ (Trichotillomania)
- โรคแพ้ภูมิตนเอง SLE/DLE (Systemic Lupus Erythematosus, Discoid Lupus Erythematosus)
- ไทรอยด์ฮอร์โมนผิดปกติ
- ภาวะขาดสารอาหารบางชนิด เช่น ขาดธาตุเหล็ก ขาดโปรตีน ลดน้ำหนักลงอย่างรวดเร็ว ขาดวิตามินดี เป็นต้น
- โรคถ่ายทอดทางพันธุกรรมแต่กำเนิด ที่ทำให้การสร้างเส้นผมผิดปกติ
- โรคติดเชื้อบางชนิด เช่น ซิฟิลิส
เคล็ดลับดูแล ผมร่วง ผมบาง
- เคล็ดลับแรก คือ ถ้ามีผมร่วงผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุให้แน่ชัดก่อน เพราะบางครั้ง หากเจอสาเหตุและทำการรักษาตรงจุด จะทำให้แก้ปัญหาผมบางได้เร็ว หรือ หากสาเหตุเกิดจากภาวะผมบางจากพันธุกรรมและฮอร์โมน ยิ่งได้รับการรักษาเร็วเท่าไหร่ ยิ่งไม่เสียโอกาสในการทำให้ผมกลับมาแข็งแรงเท่านั้น
- ในเพศชายที่มีปัญหาผมร่วง ผมบาง แพทย์อาจแนะนำให้ทานยาฟิแนสเตอไรด์ (finasteride) ซึ่งเป็นยาที่ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ 5α-reductase ทำให้ระดับฮอร์โมนดีเอชที (DHT) ที่หนังศีรษะลดลง ลดการหลุดร่วงและช่วยกระตุ้นการสร้างเส้นผมใหม่ โดยควรทานติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน หากหยุดใช้ยา ผมมักจะกลับมาร่วงอีกภายใน 4-12 เดือน สำหรับผลข้างเคียงที่พบได้แต่ไม่บ่อย คือ ความต้องการทางเพศลดลงและอวัยวะเพศไม่แข็งตัว (ประมาณ 1.2-1.8%) และข้อควรทราบอีกข้อหนึ่ง คือ หากมีความจำเป็นต้องไปบริจาคเลือด ควรงดยาอย่างน้อย 1 เดือน เพราะยายังคงสามารถอยู่ในร่างกาย มีผลทำให้ทารกในครรภ์พิการได้หากผู้ที่รับเลือดเป็นคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์
- ยาทาหนังศีรษะไมนอกซิดิล (minoxidil) ช่วยกระตุ้นการงอกของเส้นผม โดยมากจะเริ่มเห็นผลการรักษาหลังจากใช้ต่อเนื่อง 6 เดือน หากหยุดใช้ยา อาการผมร่วงจะค่อยๆ กลับมาภายใน 4-6 เดือน ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น ระคายเคืองผิวหนัง หรือมีขนขึ้นตามใบหน้า
- ถ้าหากตรวจพบว่าขาดวิตามินดี หรือ ขาดธาตุเหล็ก แนะนำให้ทานยารักษาภายใต้คำแนะนำของแพทย์ เนื่องจากวิตามินทั้งสองชนิดนี้ ถ้ารับประทานในปริมาณที่มากเกินไป อาจสะสมในร่างกายและเกิดภาวะเป็นพิษต่อร่างกายได้
- ส่วนอาหารเสริมและสารสกัดธรรมชาติอื่นๆ ที่ช่วยเร่งการเจริญของเส้นผม มีรายงานทางการแพทย์บ้าง แต่ผลการรักษายังไม่แน่ชัด (controversy) เช่น ไบโอติน สังกะสี โสม อัญชัน สนหางม้า ใบแปะก๊วย เป็นต้น
- เทคโนโลยีแสง Low-Level Laser Therapy (LLLT) เช่น แสง LED และเลเซอร์ เพื่อฟื้นฟูหนังศีรษะและกระตุ้นการเจริญของเส้นผม
- การปลูกผม โดยวิธีผ่าตัดเจาะรากผมบริเวณท้ายทอย ซึ่งเป็นบริเวณไม่ค่อยโดนผลกระทบจากฮอร์โมน แล้วย้ายรากผมมาปลูกลงในบริเวณที่ต้องการ
- การดูแลสุขภาพผม ใช้แชมพูที่อ่อนโยนต่อเส้นผมและหนังศีรษะ และหลีกเลี่ยงกิจกรรมทำร้ายเส้นผม เช่น ดัด ยืด ใช้ความร้อนสูงกับเส้นผม เป็นต้น