ร้อนจัดระวัง! 'ฮีทสโตรก' ภัยร้ายอันตรายถึงชีวิต ใครเสี่ยง-เลี่ยงอย่างไร เช็กเลย

Home » ร้อนจัดระวัง! 'ฮีทสโตรก' ภัยร้ายอันตรายถึงชีวิต ใครเสี่ยง-เลี่ยงอย่างไร เช็กเลย


ร้อนจัดระวัง! 'ฮีทสโตรก' ภัยร้ายอันตรายถึงชีวิต ใครเสี่ยง-เลี่ยงอย่างไร เช็กเลย

หน้าร้อนระวัง! ป่วยเป็น ‘ฮีทสโตรก’ หรือ ‘โรคลมแดด’ ภัยร้ายอันตรายถึงชีวิต ใครบ้างที่เสี่ยง และมีวิธีเลี่ยงอย่างไร มาดูกัน

ประเทศไทยเข้าสู่หน้าร้อนอย่างเป็นทางการ สำหรับสภาวะอากาศในช่วงนี้ ต้องระมัดระวังโรคร้ายที่มาพร้อมอากาศร้อน นั่นคือ “โรคลมแดด” หรือ “ฮีทสโตรก” วันนี้ทีมข่าวสดขอพาทุกคนไปรู้จักโรคลมแดดให้มากขึ้นกัน

โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก คืออะไร

เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัว หรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อย ๆ สูงเกิน 40.5 องศาเซลเซียส ซึ่งส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตและระบบสมอง โดยเฉพาะที่สมอง ทำให้เกิดอาการคล้าย “หลอดเลือดสมอง (stroke)” เนื่องจากไม่ได้มีความผิดปกติจากหลอดเลือดโดยตรง แต่เกิดจากความร้อนที่มากเกินไปเลยเรียกว่า ฮีทสโตรก (Heat Stroke)

นอกจากนี้อาจทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะสำคัญ เช่นสมอง หัวใจ ปอด ไต และกล้ามเนื้อ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที จะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายได้ ถึงขั้นพิการและเสียชีวิต

อาการที่พบได้เบื้องต้น

เมื่อยล้า, อ่อนเพลีย, คลื่นไส้, อาเจียน, ปวดศีรษะ, ความดันต่ำ, หน้ามืด, หมดสติ, เพ้อ, ไม่รู้สึกตัว, หายใจเร็ว, หัวใจเต้นผิดจังหวะ, กระหายน้ำ, ภาวะขาดเหงื่อ (ร้อนแต่ไม่มีเหงื่อ), อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ใครบ้างที่เสี่ยง

1.คนที่ทำงาน ทำกิจกรรมกลางแดด เช่น เล่นกีฬา ผู้ใช้แรงงานกลางแจ้ง เกษตรกร คนงานก่อสร้าง

2.เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี

3.ผู้สูงอายุ

4.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง

5.ผู้ที่มีภาวะอ้วน

6.ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ

7.ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก เพราะฤทธิ์แอลกอฮอล์ทำให้เส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัวได้มากขึ้น ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูงกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม สภาวะอากาศที่ร้อนจัด ทำให้แอลกอฮอล์ถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้รวดเร็ว กระตุ้นหัวใจสูบฉีดเร็วและแรงขึ้น อาจช็อกและเสียชีวิตได้

วิธีดูแลสุขภาพ

1.สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ระบายความร้อนได้ดี

2.อยู่ในที่มีอากาศถ่ายเท

3.เลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งนาน ๆ

4.สวมแว่นกันแดด กางร่ม หมวกปีกกว้าง

5.ดื่มน้ำมากกว่าปกติเพื่อชดเชยการเสียน้ำในร่างกาย

6.งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

7.อย่าทิ้งเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยงไว้ในรถที่จอดไว้กลางแจ้ง เนื่องจากอุณหภูมิภายในรถจะสูงกว่าภายนอก

8. ควรออกกำลังกายในช่วงเช้า หรือเย็น เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศไม่ร้อนมาก และควรมีการอบอุ่นร่างกายก่อนทุกครั้ง

หากพบผู้ป่วยจากภาวะอากาศร้อน

1.นำผู้มีอาการเข้าร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถอดเสื้อผ้าชั้นนอกออก

2.เทน้ำเย็นราดลงบนตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด

3.ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ

4.ไม่ควรใช้ผ้าเปียกคลุมตัว เพราะจะขัดขวางการระเหยของน้ำออกจากร่างกาย

5.รีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือสายด่วน 1669 ทันที สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ขอบคุณที่มา โรงพยาบาลสินแพทย์

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ