รู้จัก ‘ชัชชาติ’ มากกว่าเดิม บางเรื่องไม่ธรรมดา มีมากกว่า ‘แผนรถไฟเร็วสูง’ จบปริญญาโท จาก MIT เคยบริหาร บ.เอกชน สั่งรถไฟขบวนใหม่ ปัจจุบันท้าชิง ผู้ว่าฯ กทม.
จากกระแสการ เลือกตั้ง “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดเผยเองว่า “อาจจะเกิดขึ้นในกลางปี 2565” ซึ่งการเลือกตั้งดังกล่าวนั้นถูกพรากไปจากคนกรุงเทพฯ กว่า 8 ปี หากนับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งล่าสุด เมื่อปี 2556 ลากยาวมาตั้งแต่ หลังการรัฐประหาร 2557 โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร “คนสุดท้าย” ที่มากจากการเลือกตั้งคือ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร จากค่ายสีฟ้า พรรคประชาธิปัตย์
จากนั้นก็ถูกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2559 จนกระทั่ง 8 ตุลาคม พ.ศ. 2559 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีคำสั่งที่ 64/2559 เรื่อง การให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพ้นจากตำแหน่ง และการแต่งตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยอ้างอิงจากคำสั่งที่ 50/2559 ที่ผ่านมานั้นเพื่อให้การดำเนินงานมีความต่อเนื่อง จึงอาศัยความตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มีคำสั่งดังให้ ม.ร.ว.
สุขุมพันธุ์ พ้นจากตำแหน่ง ผู้ว่าฯ กทม. จากกรณีที่ถูกตรวจสอบ ในโครงการติดไฟประดับอุโมงค์ไฟแอลอีดี จำนวน 5 ล้านดวง งบประมาณ 39.5 ล้านบาท และได้ “แต่งตั้ง” ให้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าฯ กทม. แทนมาจนถึงปัจจุบัน
แน่นอนว่า กระแสดังกล่าว เป็นเรื่องที่ “คนกรุงเทพฯ” จำนวนมากต่างตั้งตารอในการใช้สิทธิเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ หลายกลุ่มบุคลล-พรรคการเมือง ก็ได้เปิดตัว “ผู้สมัคร” กันบ้างแล้ว อย่างเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทางฟากของ “พรรคประชาธิปัตย์” แชมป์เก่าเมืองกรุงมายาวนานหลายทศวรรษ ที่ปัจจุบันหลังการเลือกตั้งใหญ่ 2562 ก็พบว่าไม่มี “ผู้แทนราษฎร” ในกรุงเทพฯ ในพื้นที่เลยแม้แต่คนเดียว ก็ได้เปิดตัว ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็น “ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครฯ” ในนามพรรคประชาธิปัตย์ อย่างยิ่งใหญ่ ที่ใจกลางเมืองอย่าง “สามย่านมิตรทาวน์” ด้วยสโลกแกนที่ว่า “เปลี่ยนกรุงเทพ เราทำได้” โดยคาดการณ์ว่า ค่ายสีฟ้าอาจจะใช้โอกาส “โค้งสุดท้าย” ที่พอมีอยู่นี้ ในการ “ทวงคืนบัลลังก์ กทม.” เพื่อกลับมาเป็น “ขวัญใจชาวกรุงฯ” เหมือนที่เคยเป็นในหลายทศวรรษที่ผ่านมา
หันมาอีกฟากที่เปิดตัวมานานด้วยสโลกแกน “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” อย่าง “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ดีกรีระดับอดีตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ผู้ที่เคยได้รับฉายาว่า “รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” ปัจจุบันเป็นผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครฯ แบบ “อิสระ” ก็เป็นที่จับจ้องอยู่ไม่น้อย และเป็นอีกตัวเลือกหนึ่ง ที่คนกรุงเทพจำนวนมากให้ความสนใจเช่นเดียวกัน เรียกได้ว่าทำโพลกี่ครั้ง ก็นำโด่ง มาในช่วงปีที่ผ่านมา
และวันนี้ (15 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้รวบรวมสิ่งที่เรียกว่า “เรื่องที่ชัชชาติไม่พูด ถ้าจะเอาประวัติมาแสดง” ซึ่งคือสิ่ง ชัชชาติ เคยทำมาโดยตลอด ทั้งผลงานตอนที่ยังเป็นรัฐมนตรี รวมถึงการบริหารงานบริษัทเอกชน ที่เคยประสบความสำเร็จ โดยมีรายละเอียดที่สำคัญทั้งหมด ดังต่อไปนี้
– เป็นน้องชายฝาแฝดของ รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และกรรมการแพทยสภา
– เป็นน้องชายของ ดร.ปรีชญา สิทธิพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
– จบปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง คนเดียวของรุ่น ซึ่งอันดับสองคือคณบดีวิศวะ จุฬาฯ คนปัจจุบัน
– เป็นนักเรียนทุนอานันทมหิดล
– จบปริญญาโทจาก MIT และปริญญาเอกจาก Illinoise
– เป็น รองศาสตราจารย์ เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโครงสร้าง มีผลงานตีพิมพ์ลงวารสารระดับโลก 8 ผลงาน เกี่ยวกับการใช้โครงสร้างระดับไมโคร คอนกรีตเสริมแรง และความทนทานของวัสดุก่อสร้างเมื่อถูกไฟไหม้ ฯลฯ
– เคยเป็นผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
– เคยทำงานเป็นวิศวกรโครงสร้างในบริษัทวิศวกรรมชื่อดัง Skidmore, owing and Merrill LLP
– เป็นที่ปรึกษาให้กระทรวงคมนาคมมาตั้งแต่ปี 2544 ก่อนจะมารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
– เคยเป็น CEO บริษัท Qhouse ซึ่งในช่วงดำรงตำแหน่งพนักงานและลูกบ้านชื่นชม
– ที่ Qhouse ยุคชัชชาติ บริษัทโตขึ้น 34%
– เป็นกรรมการบริษัทโฮมโปร และแลนด์แอนด์เฮาส์
– ผลงานยุคเป็นรัฐมนตรี (รมว.คมนาคม ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์) ถ้าไม่นับแผนรถไฟความเร็วสูง (ซึ่งทุกครั้งชัชชาติบอกว่า เป็นแผนของประเทศที่ช่วยกันทำมาตลอด) มีดังนี้
1. เปิดรถเมล์สาย A เชื่อมสนามบินสุวรรณภูมิกับจุดใจกลางเมือง ทั้งอนุสาวรีย์ชัย หมอชิต สนามหลวง
2. เพิ่มจุดเชื่อมต่อสถานี Airport link มักกะสัน กับ MRT เพชรบุรี
3. ปิดการเดินรถไฟชั่วคราว เพื่อซ่อมหมอนรองราง แก้ไขจุดตัดจุดข้าม และปูหินรถไฟสายเหนือและสายอีสานใหม่ จนรถไฟสายเหนือและอีสานวิ่งได้ตรงเวลามากขึ้น
4. เพิ่มรั้วกั้นบริเวณถนนริมเหวในจุดสำคัญต่างๆ ทั่วประเทศ
5. เริ่มการผสมยางพารากับยางมะตอยในพื้นถนนแบบพาราสเลอร์รี่ซีล เสริมความคงทนปลอดภัยและช่วยราคายาง
6. ลงนามจัดซื้อรถไฟขบวนใหม่แบบ CNR เพื่อมาให้บริการประชาชน (ต่อมาคือรถด่วนพิเศษขบวนอุดรรัถยา/อีสานมรรคา/อีสานวัตนา/ทักษิณารัถ)
7. แก้แบบสถานีรถไฟกลางบางซื่อให้เป็นชุมทางรวมทุกระบบ และรวมรถไฟความเร็วสูง
8. เปลี่ยนระบบกำจัดสิ่งปฏิกูลในรถไฟ จากแบบเปิดเป็นแบบปิด ในหลายขบวน
9. แก้ไขระบบการเดินรถรถไฟสายวงเวียนใหญ่-มหาชัย-แม่กลอง ให้สะอาดและมีมาตรฐานทั้งในสถานีและตัวรถ
10. จัดทำระบบมาตรฐานและการประเมินรถเมล์ทั้งของ ขสมก.และเอกชน
11. แก้ไขปัญหาเสียงรบกวนจากจุดตัดรถไฟกับถนนในชุมชน
12. จัดระเบียบชุมชนริมทางรถไฟและชุมชนริมทางหลวง
ผู้ใช้เฟซบุ๊กกรายดังกล่าว ซึ่งเป็นผู้รวบรวมสิ่งเหล่านี้ ยังแสดงความคิดเห็นอีกว่า งานที่ชัชชาติทำ เป็นงานเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้ชีวิตเราดีขึ้นอย่างละนิดละหน่อย ฟังดูแล้วอาจจะไม่ดึงดูดใจ และอวดใครยาก แต่ชีวิตในเมืองที่มีชัชชาติดูแล จะเป็นชีวิตที่ดีขึ้นแน่นอน
ขอขอบคุณข้อมูล : ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายนั้น