นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.ระบุว่า ประเทศเยอรมนีบริจาค “โมโนโคลนอลแอนติบอดี” เพื่อรักษากลุ่มผู้ป่วยอาการหนักมาก 1,000-2,000 ชุด มาให้ประเทศไทย และได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว หลังจากที่ทางการเยอรมนีใช้ยาตัวนี้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่ประเทศของตัวเอง พร้อมเตรียมแบ่งให้โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ กรุงเทพมหานคร โรงเรียนแพทย์ และ โรงพยาบาลสังกัดกรมควบคุมโรค ตามสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อเตรียมใช้รักษาอาการของผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทยอย่างเต็มที่
โมโนโคลนอลแอนติบอดี คืออะไร
กลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดี Monoclonal Antibody ไม่ใช่ยา แต่เป็นแอนติบอดีที่สร้างจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ออกแบบมาให้มีความจำเพาะต่อความต้องการโมโนโคลนอลแอนติบอดีที่ใช้รักษาโควิด-19 ใช้วิธีการฉีดเข้าสู่ร่างกาย มีทั้งแบบผสมและไม่ผสม
โมโนโคลนอลแอนติบอดี ใช้ในไทยได้หรือไม่?
ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุมัติการใช้ยาแอนติบอดีแบบผสมรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แบบมีเงื่อนไขภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ
โมโนโคลนอลแอนติบอดีแบบผสม
ยาแอนติบอดีแบบผสม เป็นแอนติบอดีชนิดโมโนโคลนอล 2 ชนิด คือ แอนติบอดีที่สกัดจากหนูซึ่งถูกดัดแปลงพันธุกรรมให้มีระบบภูมิคุ้มกันอย่างมนุษย์ และแอนติบอดีที่สกัดจากผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะทำให้ไวรัสอ่อนกำลังลง และยับยั้งการติดเชื้อภายในร่างกายผู้ป่วยลงได้
ประสิทธิภาพของโมโนโคลนอลแอนติบอดี
ผลการวิจัยพบว่า โมโนโคลนอลแอนติบอดีช่วยลดจำนวนเชื้อไวรัสในร่างกายของผู้ป่วย ลดระยะเวลาการรักษาในโรงพยาบาล และลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตได้ต้องให้เร็วตั้งแต่ระยะแรกในการป่วย
ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ ศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า กลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดี ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ 80% โดยให้ยาตั้งแต่ระยะแรกๆ จะช่วยให้กลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว ไม่ให้อาการพัฒนาเป็นกลุ่มผู้ป่วยอาการหนัก ถือเป็นความก้าวหน้าล่าสุดในการรักษาในขณะนี้ แต่มีข้อจำกัดคือ ราคายาค่อนข้างสูง หากในอนาคตมีการนำเข้าก็จะเป็นประโยชน์มาก เพราะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ดี
ใครที่เหมาะกับการรักษาด้วยโมโนโคลนอลแอนติบอดี
โมโนโคลนอลแอนติบอดี เหมาะกับการใช้ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงจะมีอาการรุนแรง ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน เป็นต้น
ข้อควรทราบ เกี่ยวกับการใช้ และประสิทธิภาพของโมโนโคลนอลแอนติบอดี
ปัจจุบัน สำหรับโมโนโคลนอลแอนติบอดี ยังไม่มีผลการศึกษาในมนุษย์ถึงการรักษาการติดเชื้อจากสายพันธุ์ต่างๆ เช่น เบตา แอลฟา แกมมา และเดลตา และยังเป็นยาที่ควรมีการใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์โดยเฉพาะ ไม่ควรหาซื้อมารับประทานเอง