นครราชสีมา หน่วยงานราชการ ชาวบ้าน ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อร้องเรียน ที่พักสงฆ์ บุกรุกพื้นที่โบราณสถานปราสาทหลุ่งตะเคียน เตรียมขอคืนพื้นที่ พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว
ชาวบ้านหลุ่งตะเคียน อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา ร้องเรียนถึงปัญหาการบุกรุกพื้นที่โดยรอบโบราณสถานปราสาทโคกปราสาท หรือ ปราสาทบ้านหลุ่งตะเคียน ของที่พักสงฆ์ วัดโคกปราสาท
โดยมีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างมากมาย ลักษณะคล้ายบ้านพักรับรอง หรือ รีสอร์ท ไม่มีลักษณะคล้ายกับกุฏิสงฆ์ มีการปลูกสร้างอาคารชิดติดตัวปราสาทเก่าแก่ รวมถึงเข้าครอบครองพื้นที่โดยรอบโบราณสถาน ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าใช้ประโยชน์ ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อที่สืบทอดกันมาได้
หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครราชสีมา หน่วยงานราชการในพื้นที่ ะชาวบ้านบ้านหลุ่งตะเคียนกว่า 100 คน
ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบที่พักสงฆ์วัดโคกปราสาท ซึ่งถูกร้องเรียนว่าบุกรุกพื้นที่โบราณสถานโคกปราสาท จากการตรวจสอบพบว่า ที่พักสงฆ์ได้มีการก่อสร้างอาคารโดยรอบพื้นที่ภายหลังการประกาศพื้นที่โบราณสถานตามราชกิจจานุเบกษาฉบับ 111 ตอน 56ง ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2537
รวมถึง วัดโคกปราสาท ไม่มีรายชื่อตามทะเบียนวัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จึงมีฐานะเพียงที่พักสงฆ์ ยังไม่เป็นวัดที่ถูกต้อง โดยทางที่พักสงฆ์วัดโคกปราสาทได้อ้างถึงเอกสารหลักฐาน สค.1 ในการเข้ามาครอบครองที่ดินผืนดังกล่าว
ซึ่งมีการเข้ามาทำประโยชน์ก่อนวันประกาศเขตพื้นที่โบราณสถาน และต่อมามีการปลูกสร้างอาคารปฏิบัติธรรมเพิ่มเติม รุกล้ำเข้าไปยังอาคารตัวปราสาท ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ไม่พอใจลุกขึ้นมาร้องเรียนขับไล่ พร้อมขอคืนพื้นที่เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต
ต่อมาทางคณะผู้ตรวจสอบ ได้ประชุมร่วมกันที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลหลุ่งตะเคียน โดยเปิดโอกาสให้ทางตัวแทนของที่พักสงฆ์ วัดโคกปราสาท และตัวแทนชาวบ้านผู้ร้องเรียน ได้ให้ข้อมูล เพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานที่รับผิดชอบ
โดยนายปริญญา วิกุลศิริรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบตามข้อร้องเรียนจากชาวบ้าน เมื่อเข้าไปยังสถานที่จริง ก็พบว่า มีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ติดกับโบราณสถาน อาจส่งผลกระทบทำให้ความเสียหายแก่โบราณสถานได้
นอกจากนี้จากการสอบถามไปยังสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ทราบว่า ที่พักสงฆ์ได้ปลูกสร้างอยู่ในเขตโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ส่วนประเด็นการบุกรุกโบราณสถาน จะต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเพิ่มเติมอีกครั้ง เนื่องจากทางวัดอ้างว่า มีเอกสาร สค.1 ในการครอบครองพื้นที่
แต่เนื่องจากตัวกฎหมายพื้นที่ดังกล่าวได้ประกาศเขตโบราณสถานไปแล้ว ห้ามปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างหรือเข้าใช้ประโยชน์ก่อนได้รับอนุญาต ซึ่งในส่วนนี้ก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมาย ตามข้อร้องเรียนของชาวบ้านอยากให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างโดยรอบปราสาทถ้าหากการก่อสร้างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ผู้บุกรุกก็ต้องรื้อถอนสิ่งก่อสร้างออก
โดยเบื้องต้นทางสำนักศิลปากรที่ 10 ได้ทำหนังสือแจ้งมายังที่พักสงฆ์วัดโคกปราสาทให้หยุดการก่อสร้างและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเข้าไปยังพื้นที่โบราณสถานออก
หลังจากนี้จะมีการเข้ามาตรวจสอบของหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อขอคืนพื้นที่และพัฒนาให้เป็นอาคารปราสาทที่สมบูรณ์ เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้กับชาวบ้านในพื้นที่ต่อไป