รายงานพิเศษ : ไพรมารีโหวตในมุมนักการเมือง

Home » รายงานพิเศษ : ไพรมารีโหวตในมุมนักการเมือง


รายงานพิเศษ : ไพรมารีโหวตในมุมนักการเมือง

รายงานพิเศษ : ไพรมารีโหวตในมุมนักการเมือง

ไพรมารีโหวตในมุมนักการเมือง : ขณะนี้ รัฐบาลและฝ่ายค้านกำลังปรับแก้กฎหมายลูก 2 ฉบับ ให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขใหม่

1 ใน 2 ฉบับคือ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างมากคือข้อกำหนดเรื่องกระบวนการสรรหาผู้สมัคร ส.ส. ที่กฎหมายฉบับเก่ากำหนดให้ทำ ‘ไพรมารีโหวต’

ระบบดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่กับโครงสร้างพรรคการเมืองไทย มีความเห็นจากนักการเมือง ในฐานะผู้ปฏิบัติ

ศุภชัย ใจสมุทร

ส.ส. และนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย

ไพรมารีโหวตในมุมนักการเมือง

ศุภชัย ใจสมุทร

ร่างกฎหมายพรรคการเมือง และร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. หลักการที่เขียนออกมาอาจจะดีแต่ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะการตั้งตัวแทนพรรคการเมือง เพื่อจะให้มีตัวแทนเป็นคนเสนอชื่อผู้สมัครในแต่ละเขต
หมายความว่า วันนี้มีเขตเลือกตั้ง 400 เขต ก็ต้องมีการตั้งตัวแทนพรรคการเมืองแต่ละเขตขึ้นมา และกว่าจะได้ตัวแทนต้องมีการประชุมสมาชิกพรรค ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่า 100 คน ในทางปฏิบัติจริงเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และเป็นเรื่องที่เกินความจำเป็น

ดังนั้น ทางที่ควรจะเป็นคือระบบไพรมารี ซีเลคชั่น ที่ให้มีการ เสนอชื่อ โดยที่แต่ละพรรคมีกระบวนการสมัครของแต่ละจังหวัดเอง กระบวนการคือให้แต่ละจังหวัดตั้งคณะขึ้นมาคณะหนึ่ง เป็นลักษณะตัวแทนพรรคประจำจังหวัด ทำหน้าที่เป็นผู้เสนอชื่อผู้สมัครครบทุกเขต

โดยที่คณะกรรมการสรรหาของพรรคจะหารือกับ กก.บห.พรรค เป็นการคงเจตนารมณ์การมีส่วนร่วมผ่านสมาชิกในจังหวัด แทนสมาชิกในเขตเลือกตั้ง ในรูปแบบของคณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร กฎหมายควรกำหนดไว้เพียงเท่านี้

แต่ก็ไม่ควรห้ามพรรคใดก็ตามที่ต้องการจะทำในทุกเขต หรือพรรคไหนจะทำเขตเดียวก็ได้แล้วแต่ กก.บห.พรรค วิธีการดังกล่าวจะเป็นเรื่องที่ว่าไปตามขั้นตอน และกระบวนการของแต่ละพรรคเอง

อย่างไรก็ตาม วันนี้ต้องทำให้ชัดระหว่างสาขาพรรคกับตัวแทนพรรคที่ทำหน้าที่ในการเสนอชื่อ ถ้าแต่ละเขตเสนอชื่อแล้วจบเลยก็จะไม่มีประโยชน์เรื่องแนวคิดทางการเมือง และเรื่องความสัมพันธ์ผูกพันกันของสมาชิกในเขตกับพรรคการเมือง

ชัยธวัช ตุลาธน

เลขาธิการพรรคก้าวไกล

ไพรมารีโหวตในมุมนักการเมือง

ชัยธวัช ตุลาธน

เข้าใจในเจตนาดีที่ผู้เขียนรัฐธรรมนูญ และกำหนดกฎเกณฑ์ต้องการให้พรรคและคนที่สมัคร ส.ส.ยึดโยงประชาชน แต่ อาจต้องพิจารณาว่าจะนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นจริงได้หรือไม่ ขั้นตอนที่กำหนดแม้มีเจตนาดีแต่อาจกลายเป็นสิ่งขัดขวางการดำเนินงานของพรรคการเมือง แน่นอนพรรคใหญ่ๆ คงไม่มีปัญหา แต่พรรคเล็กๆ อาจเป็นอุปสรรค

เลือกตั้งครั้งที่แล้ว แม้มีคำสั่ง คสช.ให้ยกเว้นไพรมารีโหวต แต่พรรคอนาคตใหม่พยายามทดลองทำซึ่งพบปัญหาและข้อจำกัด ทั้งกรณีฐานสมาชิกที่ยังไม่กว้างพอ ประชาชนไม่สะดวกเดินทางมาโหวต ต้องใช้งบจำนวนมาก สุดท้ายเลือกทำออนไลน์เพราะไม่มีงบ ประชาชนที่ไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีก็ไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม

การแก้ไขเรื่องนี้ ควรหามาตรการส่งเสริมและสนับสนุนประเพณี วัฒนธรรมปฏิบัติ หรือกลไกที่เชื่อมโยงประชาชนให้กับพรรคการเมือง มากกว่ากำหนดรายละเอียดแบบราชการ ลักษณะเป็นระเบียบบังคับโดยไม่มีอะไรสนับสนุน อย่างในต่างประเทศมีกลไกรัฐและงบประมาณสนับสนุน

ดังนั้น หากจะมีการแก้ไขเรื่องไพรมารีโหวต ตอนพิจารณาร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. และพรรคการเมือง อาจต้องทบทวน แต่ไม่ได้ให้ทิ้งหลักการทั้งหมด

ยืนยันว่าพรรคก้าวไกลเห็นด้วยควรสนับ สนุนให้พรรคมีกลไกหรือประเพณีวัฒนธรรมปฏิบัติในพรรคที่เชื่อมโยงประชาชน แต่ควรเน้นมาตรการส่งเสริมสนับสนุนมากกว่ากำกับควบคุมบังคับให้ทำเหมือนกันหมด ถ้าจะบังคับก็ต้องกำหนดกฎเกณฑ์ที่ปฏิบัติได้ สอดคล้องความเป็นจริง พรรคไหนอยากยึดโยงประชาชนแบบไหนก็ปล่อยให้เป็นพัฒนาการทาง การเมือง

สมชัย ศรีสุทธิยากร

อดีต กกต. สมาชิกพรรคเสรีรวมไทย

ไพรมารีโหวตในมุมนักการเมือง

สมชัย ศรีสุทธิยากร

หลักการไพรมารีโหวตให้สมาชิกพรรคเสนอชื่อผู้สมัคร ส.ส แทนการให้อำนาจเป็นของหัวหน้าพรรค หรือผู้มีบารมีในพรรคที่จะมาคอยชี้โน่นนี่ หลักการถูกออกแบบมาดี แต่ในทางปฏิบัติกลับใช้ไม่ได้เกิดประสิทธิภาพ ทำไม่ได้จริง เพราะแม้บอกให้ประชาชนเป็นผู้เลือกแต่เท่าที่รู้กันก็ยังมี ผู้มีอำนาจในพรรคนั้นๆ เป็นผู้ค่อยชี้นำอยู่ดี

ข้อดีของไพรมารีโหวต คือ การทำให้พรรคการเมืองหลุดจากบุคคลที่มีอิทธิพลภายในพรรค หรือพวกนายทุน มาให้อำนาจประชาชนคัดเลือกผู้สมัคร อาจมีหลายพรรคที่ให้ยกเลิกระบบนี้ด้วยมองว่าเป็นภาระ แต่เชื่อว่าคงเป็นภาระภายในของพรรคมากกว่าจึงอยากให้ยกเลิกไป

ระบบนี้ดีและยังคงต้องมีไว้ แต่ปรับแนวทางให้ใช้ในทางปฏิบัติได้จริงและมีประสิทธิภาพอย่างจริงแท้ คงให้เป็นหน้าที่ของ กกต.ในการเข้าไปดูแลอย่างจริงจังในเรื่องขั้นตอนเหล่านี้

อย่าพิ่งไปมองว่าระบบนี้จะมีแต่ข้อเสีย หรือมีแต่จะเป็นภาระ เพราะอย่างที่ทราบถึงเจตนารมณ์ของการมีระบบนี้ก็เพื่อให้อำนาจกับประชาชน แทนที่จะเป็นผู้มีอำนาจหรือบารมีในพรรคการเมือง

ส่วนพรรคไหนต้องการแก้ไขหรือปรับตรงไหนก็ให้เป็นขั้นตอนการเสนอร่างกฎหมายต่อรัฐสภา เพื่อร่วมกันพิจารณาร่างนั้น พอมาวาระสองแล้วมาตั้ง กมธ.พิจารณาถึงข้อดีข้อเสียของระบบนี้ต่อไป เท่าที่ทราบร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ของกกต.ก็ยังให้คงระบบนี้ไว้อยู่ และเปิดรับฟังความคิดเห็นอยู่

นิกร จำนง

ส.ส. และฝ่ายกฎหมายพรรคชาติไทยพัฒนา

ไพรมารีโหวตในมุมนักการเมือง

นิกร จำนง

ไพรมารีโหวตใช้กันมากในสหรัฐ ซึ่งเป็นระบบโครงสร้างสองพรรค ใช้ในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองอยู่แล้ว แต่ของไทยไม่ใช่ ไพรมารีโหวตไม่เหมาะสมอย่างยิ่งกับระบบการเมืองของไทยที่เป็นระบบรัฐบาลผสม
อีกทั้งคนไทยไม่นิยมเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ดังนั้นสมาชิกพรรคการเมืองของไทยไม่มีอยู่จริงหรือมี อยู่น้อย เมื่อเขียนเข้าไปก็กลายเป็นกลไกลวง เพราะสมาชิกที่เลือกผู้สมัครไม่ใช่สมาชิกพรรคที่แท้จริง แต่เป็นสมาชิกที่ผู้สมัครสร้างขึ้น หลักการที่สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งเบื้องต้นจึงเป็นเรื่องไม่จริง ปฏิบัติ ไม่ได้

ที่อ้างว่ารัฐธรรมนูญกำหนดให้มีส่วนร่วม ไม่จริง กรธ.เพียงเขียนว่าให้ประชาชนมีส่วนร่วมเท่านั้น ในกฎหมายพรรคการเมืองที่ร่างมาโดย กรธ.ก็มีอยู่แล้ว หลักการที่เปลี่ยนไปคือให้มีกรรมการสรรหา ที่ประกอบด้วย กก.บห.พรรคครึ่งหนึ่ง ที่เหลือให้มาจากสาขา 4 ภาค และให้มาจากตัวแทนอื่นอีกส่วนหนึ่ง จะเห็นได้ว่าประชาชนมีส่วนร่วมอยู่แล้ว

แต่ตอนยกร่างเรื่องไพรมารีโหวตโดยไม่ถามพรรคการเมืองเลย แต่ไปนำถ้อยคำจาก มาตรา 257 (2) การปฏิรูปประเทศ ที่ให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบในการดำเนินการทางการเมือง ซึ่งมีอายุ 5 ปี จะหมดอายุ 5 เม.ย. 2565 นี้แล้ว รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดในหมวดรัฐสภา

พรรคชาติไทยพัฒนาเสนอทางออกไปแล้วว่า ให้มีแค่ตัวแทนพรรคประจำจังหวัด จังหวัดละ 1 แห่ง เหมือนอดีตที่ตั้งศูนย์ประสานงานประจำจังหวัด เอาไว้คอยดูแลประชาชน และดำเนินการสรรหาเบื้องต้นในการเสนอชื่อผู้สมัครในกรณีมีการเลือกตั้ง

มีสมาชิก 100 กว่าคนให้ดูแลทั้งจังหวัด เลือกตั้งเสร็จ หน้าที่ของตัวแทนจังหวัดคือดูแลประชาชน ไม่ใช่ตั้งขึ้นมาเพื่อการเลือกตั้ง ต่างจากตัวแทนเขตเลือกตั้ง

ชูศักดิ์ ศิรินิล

รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และปธ.คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย

ไพรมารีโหวตในมุมนักการเมือง

ชูศักดิ์ ศิรินิล

ปัญหาสำคัญคงจะอยู่ที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 45 ที่กำหนดให้สิทธิสมาชิกพรรคการเมืองต้องมีส่วนร่วมในการส่ง ผู้สมัคร เป็นที่มาของการตรากฎหมายพรรคการเมืองปี 2560 โดยกำหนดให้การส่งผู้สมัครให้รับฟังความเห็นจากสาขาพรรค หรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัด และเป็นที่มาว่าต้องมีตัวแทนพรรคประจำจังหวัดในทุกเขตที่ส่งผู้สมัคร เว้นแต่มีสาขาพรรคในเขตนั้นอยู่แล้ว

ก่อนหน้านี้ มีความพยายามจะแก้มาตรา 45 แต่ถูก ส.ว.ตีความว่าจะยกเลิกไพรมารีโหวต ร่างรัฐธรรมนูญเหล่านั้นจึงตกไป เหลือเพียงร่างของพรรคประชาธิปัตย์ร่างเดียวที่ผ่านรัฐสภา โดยมิได้แตะต้องมาตรา 45

การยกร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.พรรคการเมืองใหม่ครั้งนี้ จึงมีข้อจำกัดอยู่ หากไปแตะต้องหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆ โดยเฉพาะการทำไพรมารีโหวต อาจถูกโต้แย้งว่าร่างดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อมาตรา 45 หรือไม่

ขณะเดียวกัน ร่างแก้ไขดังกล่าวยังต้องยึดหลักการของการรับฟังสมาชิกพรรคอย่างกว้างขวางอยู่ อาจเรียกว่ายังคงต้องยึดหลักการไพรมารีโหวตไว้

ข้อจำกัดของการทำไพรมารีโหวตในกฎหมายปัจจุบัน มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ไม่ใช่ ทำไพรมารีโหวตโดยแท้จริง ไม่สมเหตุสมผล เพราะไปจัดตั้งตัวแทนกันแบบให้เป็นไปตามกฎหมาย เอาคน 50 กว่าคนมาให้ความเห็นในการส่งผู้สมัคร สร้างความยุ่งยากให้พรรคการเมืองที่ต้องมีตัวแทนพรรคในทุกเขตที่ส่งผู้สมัคร

ข้อจำกัดสำคัญ คือพรรคส่วนใหญ่ได้จัดทำตัวแทนพรรคประจำจังหวัดเป็นส่วนใหญ่ เพื่อรองรับการเลือกตั้งครั้งหน้าไว้แล้ว การจะไปยกเลิกและสร้างระบบใหม่ขึ้นมา อาจเป็นปัญหาในทางปฏิบัติต่อไปได้อีก

ทางออกจึงอาจจะอนุโลมให้เหมือนกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เพื่อใช้สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า ส่วนอนาคตควรคิดกันทั้งระบบอีกครั้งหนึ่งว่ารูปแบบการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนที่ถูกที่ควรนั้นควรเป็นอย่างไร ถึงจะบรรลุเป้าหมายที่จะให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการส่งผู้สมัครอย่างกว้างขวางอย่างแท้จริง

ชินวรณ์ บุณยเกียรติ

ไพรมารีโหวตในมุมนักการเมือง

ชินวรณ์ บุณยเกียรติ

ไม่มีความจำเป็นที่ต้องจัดทำไพรมารีโหวต เพราะเป็นหลักคิดเดิมที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ 60 และคสช.ในช่วงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่ามีปัญหาตั้งแต่เริ่มร่าง เมื่อนำมาปฏิบัติก็ทำไม่ได้จริง เพิ่มภาระให้นักการเมือง

พรรคประชาธิปัตย์เน้นการมีส่วนร่วมได้จริง จึงขอแก้ไขมาตรา 47 ให้พรรคที่ประสงค์จะส่งผู้สมัคร ส.ส.เขต ต้องมีสาขาพรรค หรือมีตัวแทนพรรคประจำจังหวัดอย่างน้อย 1 สาขา หรืออย่างน้อย 1 ตัวแทนประจำจังหวัด

การส่งผู้สมัครทั้งส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อ คำนึงถึงผู้สมัครที่จะได้รับการสรรหาจากกรรมการสาขาพรรคเป็นด้านหลัก โดยเพิ่มในส่วนบัญชีรายชื่อให้คำนึงถึงผู้สมัครจากภูมิภาคต่างๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างชาย-หญิง เพื่อส่งรับฟังความคิดเห็นจากสาขาพรรค หรือตัวแทนพรรค เพื่อลดความซับซ้อนเรื่องต้องไปโหวตซึ่งไม่เป็นจริง

ที่ต้องหาคน 100 คน มาโหวตแล้วส่งชื่อนั้นไม่เป็นจริง ที่เป็นจริงคือให้สรรหาจากเงื่อนไขที่พรรคกำหนด เมื่อได้ความเห็นจากสาขาพรรคแล้วจะส่งเรื่องให้สำนักงานใหญ่พรรค ซึ่งจะมีคณะกรรมการสรรหา และเป็นไปตามข้อบังคับพรรคของแต่ละพรรค

เมื่อกรรมการสรรหาเห็นว่าคุณสมบัติถูกต้อง ก็ส่งกลับมาประชุมตัวแทนสาขาพรรค 250 คน จากเดิม 500 คน ถ้าเป็นตัวแทนจังหวัดให้เหลือ 50 คน เมื่อคิดเห็นอย่างไรก็ให้สาขาพรรคหรือตัวแทนจังหวัด ส่ง กก.บห.พรรคเป็นคนตัดสินใจคนสุดท้าย

กระบวนการการมีส่วนร่วมต้องเกิดขึ้นจริง และประชาชนมีส่วนร่วมจริงโดยผ่านกระบวนการของระบบพรรคการเมือง จึงต้องลดความซ้ำซ้อน ลดจำนวน ลดกระบวนการที่ต้องไปลงคะแนนออกให้มากที่สุด จะทำให้แต่ละพรรคเท่าเทียมมากขึ้น

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ