ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เลือก “ปทุมธานี” ต้นแบบฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม “คำรณวิทย์” เผยขอจองไว้ก่อนอย่างน้อย 500,000 โดส
พลอากาศตรีนายแพทย์สันติ ศรีเสริมโภครอง เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดเผยว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เลือก ปทุมธานี เป็นต้นแบบบริหารจัดการวัคซีนซิโนฟาร์ม หลังจากขึ้นทะเบียนซิโนฟาร์มเรียบร้อยแล้ว และสามารถที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรไทยได้แล้ว เพื่อเป็นการจัดสรรวัคซีนทางเลือกให้กับประเทศ
ปัจจุบัน ในประเทศไทย มีวัคซีนอยู่ 2 ชนิดได้แก่ 1. ซิโนแวค และ 2. แอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งยังมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้วัคซีนที่ค่อนข้างสูงในประเทศ จึงนำวัคซีนซิโนฟาร์มเพื่อปิดช่องว่างที่มีอยู่ ทำให้วัคซีนที่ได้รับมาจะได้ครอบคลุมคนทั้งประเทศ เป็นการฉีดวัคซีนปูพรมได้เร็วที่สุด เพื่อให้ภาคเอกชนการทำงานต่าง ๆ สามารถทำงานได้
สำหรับการเลือกวัคซีนซิโนฟาร์ม เนื่องจากเป็นวัคซีนที่มีความต้องการสูง ตามเอกสารพบว่า มีมาตรฐานสูงเป็นอันดับต้น ๆ ในการตอบสนอง ทำให้เกิดภูมิต้านทานได้ดี ความปลอดภัยสูง อีกทั้งรัฐบาลต้องใช้เวลาในการหาวัคซีนเพื่อครอบคลุมคนทั้งประเทศ ช่วงนี้จึงเป็นช่วงวิกฤติ ที่ต้องช่วยกันทั้งภาคเอกชน หน่วยราชการท้องถิ่น ที่จะดูแลคนของตัวเองได้
“วัคซีนที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้มา จะแบ่งตามลำดับความสำคัญ คิดว่าทุกคนจะต้องได้หมด เพียงแต่ว่าจะมีด้านเอกสารด้านความมั่นคง ที่จะต้องมาคุยกันเพื่อจัดสรรวัคซีนในเบื้องต้น” เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าว
สำหรับการเลือกจังหวัดปทุมธานี เป็นต้นแบบการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม เนื่องจาก จังหวัดปทุมธานีและทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้เคยมาช่วยฉีดวัคซีนให้บุคลาการทางการศึกษามาแล้วในเบื้องต้น และได้เคยพูดคุยกันไว้ว่าถ้า อบจ.ปทุมธานี มีความพร้อม ก็ทำหนังสือมาเพื่อขอสนับสนุนวัคซีนทางเลือก โดยทำให้จังหวัดปทุมธานีก่อน เพื่อเป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่นในการบริหารจัดการวัคซีน
ทั้งนี้เพราะวัคซีนเป็นการใช้แบบฉุกเฉิน จึงต้องมีรูปแบบพอสมควร ต้องมีการควบคุมคุณภาพ และรายงานคุณภาพ หลังจากที่ฉีดแล้วเกิดปัญหาอะไรต้องรายงานกับ อย. เพื่อให้ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง โดยเบื้องต้นได้คุยกับ นายกอบจ.ปทุมธานี ไว้แล้ว เพราะเป็นจังหวัดที่มีความพร้อมและมีประสบการณ์ โดยให้เป็นผู้รวบรวมการสั่งซื้อจากจังหวัดอื่น ๆ แล้วเสนอขึ้นมาทีเดียว พร้อมเป็นพี่เลี้ยงในเรื่องเอกสาร และการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ต่อไป
ส่วน นายเสวก ประเสริญสุข รองนายก อบจ.ปทุมธานี กล่าวว่า ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่รอบแรกในปี พ.ศ.2563 พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกอบจ.ปทุมธานี ขณะนั้นในนามกลุ่มคนรักปทุม ได้ติดต่อหาน้ำยาฆ่าเชื้อโควิด พร้อมรถแคปซูล ฉีดพ่นให้ประชาชนทั่วทั้งปทุมธานี ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น วันนี้ จึงอยากได้วัคซีนที่ดีที่สุดมาฉีดให้คนปทุมธานีเ พื่อให้เปิดหน้ากากไม่ต้องกลัวโควิดกันอีกต่อไป โดย นโยบายของ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อยากให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มอบให้จังหวัดปทุมธานีฉีดก่อนเป็นตัวอย่างอย่างน้อย 500,000 คนก่อน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจของคนปทุมธานี ทำให้เศรษฐกิจความเป็นอยู่ของคนปทุมดีขึ้น และพร้อมที่จะเป็นต้นแบบอย่างมีคุณสามารถอบรมแนะนำการฉีดวัคซีนกับ อบจ. อื่นๆ ต่อไป
ด้าน พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี กล่าวว่า ขณะนี้พี่น้องประชาชนมีใจจดจ่อ ว่าจะได้ฉีดวัคซีนหรือไม่ บางคนคิดว่าวัคซีนน่ากลัว โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้จัดหาวัคซีนซีโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า แต่วันนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีวัคซีนซิโนฟาร์มเข้ามาเป็นวัคซีนทางเลือกในเดือนมิถุนายน ขณะที่ จังหวัดปทุมธานีเป็น 1 ใน 5 จังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุดของประเทศและเป็นพื้นที่สีแดง
จังหวัดปทุมธานี จึงได้รับส่วนแบ่งวัคซีนจากรัฐบาลมาเบื้องต้นจำนวน 60,000 กว่าโดส สามารถฉีดให้ประชาชนได้ 30,000 กว่าคน ซึ่งไม่เพียงพอ ในวันนี้มีวัคซีนทางเลือกเข้ามาจึงต้องดิ้นรนเพื่อหาวัคซีนทางเลือกคือ ซิโนฟาร์ม เข้ามาฉีดพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุด เพราะปทุมธานีเป็นจังหวัดสุ่มเสี่ยงทั้งจังหวัดอยู่แล้ว จึงได้หารือกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จังหวัดปทุมธานีได้เริ่มฉีดวัคซีนให้บุคลากรทางการศึกษา เพื่อรองรับเปิดเทอม แต่ก็ไม่เพียงพอ จึงทำบันทึกถึงราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ขอจองไว้ก่อนอย่างน้อย 500,000 โดส ซึ่งขณะนั้น จากที่พูดคุยกับทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะได้วัคซีนมาจำนวน 20 ล้านโดส จึงได้จองไว้อย่างน้อย 500,000 หรือ 1,000,000 โดส จำนวนประชาชนของจังหวัดปทุมธานี รวมประชากรแฝงด้วย คาดว่ากว่า 2 ล้านคนขึ้นไป ถ้าเราฉีดได้ 500,000 คน จึงมองว่าจังหวัดปทุมธานี รอดแล้ว
อย่างไรก็ตาม การจองฉีดวัคซีนดังกล่าว ยังต้องขออนุมัติหน่วยงานหลัก คือ กระทรวงมหาดไทย ซึ่งตนอยากบอกพี่น้องชาวปทุมธานีว่า หากกระทรวงมหาดไทยจะเบรกก็ไม่เป็นไร เพราะต้องหาแนวทางกันต่อไป แต่ขณะนี้ นายกอบจ.ทั้ง 76 จังหวัด ให้ความไว้วางใจตน เลือกให้เป็นตัวแทน เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติร่วมประชุมเป็นตัวแทนของนายกอบจ.ทั้ง 76 จังหวัด ในการจัดสรรวัคซีนให้กับทุกจังหวัด