ราชทัณฑ์ แจงรอแนวปฏิบัติระเบียบคุมขังนอกเรือนจำเสร็จก่อน ส่วน “ทักษิณ” เข้าหลักเกณฑ์ ต้องพิจารณาสถานที่ “เหมาะสม”
วันนี้ (20 ธ.ค.) นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงกรณีที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะอดีต รมว.ยุติธรรม กล่าวถึง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและผู้ต้องขังเด็ดขาด เข้าหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ 2560 เรื่องระเบียบการคุมขังนอกเรือนจำ เพราะมีโทษน้อยกว่า 1 ปี และไม่ใช่บุคคลอยู่ในข่ายสิ่งที่น่ากลัวของสังคม แต่เป็นโทษที่ไม่ได้เป็นภัยต่อสังคม
นายสหการณ์ กล่าวว่า ราชทัณฑ์ต้องกำหนดหลักเกณฑ์แนวปฏิบัติก่อน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ออกและอยู่ระหว่างดำเนินการเพราะมีรายละเอียดต้องพิจารณาแต่จะเร่งรัดให้เร็วที่สุด เนื่องจากมีผู้ต้องขังที่ป่วย พิการ ผู้ต้องขังสูงอายุ ดูแล้วไม่มีความเสี่ยงต่อการกระทำผิดซ้ำรอใช้ระเบียบฉบับนี้อยู่เช่นกัน ส่วนระยะเวลาขึ้นอยู่กับสถานการณ์และข้อมูลที่รวบรวมเพราะมีคณะทำงานตรวจสอบ ซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่าจะทันก่อนปีใหม่หรือไม่
นายสหการณ์ กล่าวอีกว่า หากกรณีเข้าหลักเกณฑ์ “ทักษิณ” จะพักอาศัยที่บ้านหรือโรงพยาบาลต่อนั้น ก็ต้องดูขั้นตอนในบทกระทรวง ระเบียบเพราะมีหลายสถานที่ขึ้นอยู่กับแต่ละคน โดยคณะทำงานจะพิจารณาว่าสถานที่ใดมีความเหมาะสมกับบุคคลนั้นๆ ซึ่งคำว่า “เหมาะสม” หมายถึงว่า สถานที่ที่รองรับมีความพร้อมในการทำกิจกรรม ปฏิบัติตัวตามเงื่อนไขได้ และอยู่ในสถานที่ราชทัณฑ์ควบคุมดูแลได้ ซึ่งไม่ไกลจากเรือนจำและเจ้าหน้าที่ไปหาได้ง่าย
ผู้สื่อข่าวถามว่าส่วน “ทักษิณ” จะเป็นผู้ต้องหาชุดแรกได้ใช้ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำหรือไม่ นายสหการณ์ เผยว่า ตนไม่สามารถคาดการณ์ได้เพราะเรือนจำทั่วประเทศต้องไปดำเนินการคัดเลือกพิจารณาผู้ต้องขังที่มีคุณสมบัติและเข้าหลักเกณฑ์ ก่อนเสนอรายชื่อขึ้นมายังคณะทำงานตามขั้นตอน ส่วนผู้ต้องหาชุดแรกจะได้ใช้ระเบียบดังกล่าวเมื่อไหร่นั้น ยังไม่สามารถบอกได้เพราะว่าหลักเกณฑ์และคุณสมบัติยังไม่ประกาศใช้
ทั้งนี้ จำนวนผู้ต้องขังที่อยู่ในเงื่อนไขมีหลักหมื่นรายแต่ก็ต้องดูความพร้อมด้านอื่นๆ ด้วย อาทิ ด้านสถานที่คุมขัง ความพร้อมของตัวผู้ต้องขังเอง ความพร้อมในสิ่งที่ต้องกำหนดตามแนวทางปฏิบัติ ความเสี่ยงต่างๆ เป็นต้น
เมื่อถามว่ากรณีคนจนหรือคนรวยได้ใช้ระเบียบนี้แล้วแต่บ้านมีห้องแอร์เป็นการเหลื่อมล้ำหรือไม่ นายสหการณ์ เผยว่า ตนคิดว่าเรื่องนี้คนจนน่าจะได้โอกาสมากกว่า เพราะที่ผ่านมาปกติคนที่ไม่ได้อยู่ในฐานะร่ำรวยมีจำนวนเยอะมากกว่าและมีอาการเจ็บป่วย พิการ หรือชราภาพ ซึ่งสมควรได้รับการพิจารณาให้คุมขังนอกเรือนจำ เเละคณะทำงานไม่ได้เจาะจงให้คุมขังเฉพาะที่บ้าน
แต่อาจเป็นมูลนิธิ วัดวาอาราม สถานศาสนา บ้านญาติพี่น้อง หรือบ้านพักคนชราก็ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อออกเรือนจำไปแล้วผู้ต้องขังยังอยู่ในการควบคุมดูแลของราชทัณฑ์ และ ภายใต้คำพิพากษาของศาล ฉะนั้น ต้องไม่มีความเสี่ยง ไม่เปิดช่องให้หลบหนีหรือก่อเหตุซ้ำ ซึ่งต่างประเทศ ทั้งยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น อังกฤษ ทำมานานแล้ว