รัฐสภา ถก กม.พรรคการเมือง ปมคุณสมบัติสมาชิกพรรค เห็นชอบปิดทางคนพ้นโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี-อดีตส.ว.-พระภิกษุ เป็นสมาชิกพรรค กมธ.เสียงข้างน้อยค้านจำกัดสิทธิ์
เมื่อเวลา 12.33 น. วันที่ 26 ก.ค. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภา มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่…) พ.ศ…. ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้ว มีทั้งหมด 13 มาตรา ในวาระสอง โดยเป็นการพิจารณาเรียงลำดับรายมาตรา
โดยในมาตรา 4/1 แก้ไขมาตรา 24 ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะร่วมเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง ซึ่งกมธ.พิจารณาเพิ่มบทบัญญัติขึ้นใหม่ และมีกมธ.เสียงข้างน้อย รวมถึงสมาชิกรัฐสภาติดใจขอแปรญัตติ โดยเฉพาะประเด็นที่ขอสิทธิให้บุคคลที่ต้องโทษจำคุก ผู้ที่เคยจำคุกและพ้นโทษมาแล้ว 5 ปี รวมถึง ส.ว. หรือบุคคลที่พ้นตำแหน่ง ส.ว. ไม่ครบ 2 ปี สามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคได้ เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองสามารถมีสมาชิกพรรคเพิ่มขึ้นได้
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะกมธ.เสียงข้างน้อย อภิปรายว่า คนที่จะมาเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ต้องไม่เคยรับโทษจำคุก โดยโทษจำคุกนั้นพ้นยังไม่ถึง 10 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง ควรตัดออกไปก่อน เพราะคุณสมบัติพื้นฐานของพลเมือง คือ พลเมืองทุกคนในประเทศนี้มีสิทธิเท่าเทียมกัน ซึ่งตนไม่สนใจว่าจะต้องโทษมาหรือไม่ หรือพ้นมาแล้วกี่ปี แต่หากจะตัดสิทธิในการเป็นกรรมการบริหารพรรค
นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า ตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ตัดสิทธิความเป็นรัฐมนตรี ด้วยเงื่อนไขลักษณะเฉพาะบางประการ เช่น หากมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ก็ว่ากันไป เพราะวันนี้ยังมีคดีที่ค้างอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องคุณสมบัติของส.ส.อีกหลายคน ที่เคยต้องคำพิพากษาหรือต้องโทษจำคุกมายังไม่สิ้นสุด ซึ่งคนควรจะรู้คุณสมบัติขั้นพื้นฐานตั้งแต่ต้น โดยเห็นว่าเมื่อพ้นโทษมาแล้วก็มีสิทธิ์เต็มที่ ไม่ควรมีกฎหมายจำกัดสิทธิ์ เราสามารถปลดล็อกให้เขามีที่ยืนได้ ดังนั้น ควรให้นักโทษจำคุกทุกคน เป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้
ด้านนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกมธ.เสียงข้างน้อย อภิปรายว่า พรรคการเมืองเป็นสถาบันที่จำเป็นต้องมีสมาชิกหลากหลายจำนวนมาก คนที่เคยล้มละลายมา ซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัว แต่เขามีแนวคิดทางการเมืองดีๆ ก็ได้ ทำไมต้องไปตัดสิทธิ์เขา และคนที่กระทำความผิดแบบที่กฎหมายกำหนดก็สามารถกลับตัวได้ แล้วจะตัดสิทธิ์ไม่ให้เขาเข้ามาเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองได้อย่างไร
นายธีรัจชัย กล่าวต่อว่า ร่างของกมธ.เสียงข้างมาก บอกเลยว่ากีดกันคนล้มละลาย ทั้งที่เป็นเรื่องส่วนตัว หรือบอกว่าพ้นโทษไม่ถึง 10 ปี ไม่ให้เป็นสมาชิกพรรค ทั้งที่เป็นเรื่องส่วนตัว และที่สำคัญบุคคลลักษณะต้องห้ามไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งตามมาตรา 98 อนุ 1 คือ เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต นักบวช ในศาสนาพุทธ ไม่สามารถที่จะเป็นสมาชิกพรรคหรือตั้งพรรคการเมืองได้ ทำไมนักพรต นักบวชในศาสนาอื่น ที่ไม่ใช่ศาสนาพุทธ มีสิทธิ์เป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ มีสิทธิ์ก่อตั้งพรรคการเมืองได้
นายธีรัจชัย กล่าวว่า ร่างของกมธ.เสียงข้างมากเป็นการจำกัดสิทธิ์อย่างมากมาย เราใช้แนวคิดเสรีนิยมมาใช้ไม่ได้หรือ ทำไมต้องใช้แนวคิดเผด็จการ เราหาคนดีไม่ได้ หรือคนดีคือคนที่มีบุญคุณกับท่าน ดังนั้น การเปิดโอกาสให้คนทุกเพศทุกวัย ทุกชาติ ทุกศาสนา คนทำผิด ซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัว มีสิทธิ์ชอบธรรมในการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง จึงเห็นว่าควรตัดมาตรานี้ออกไป แต่ควรจะเปิดเสรี เชื่อว่าจะทำให้พรรคการเมืองเติบโตเข้มแข็ง เติบโตจากประชาชน ไม่ใช่เติบโตจากฝ่ายเผด็จการบางคน หรือลูกน้องเผด็จการบางคน ที่ออกกฎหมายมาบีบให้พรรคการเมืองไม่เติบโตหรือแคระแกร็น
ขณะที่ นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. ในฐานะกมธ.เสียงข้างน้อย อภิปรายว่า เรื่องนี้ต้องคิดอย่างรอบครอบ พรรคการเมืองไม่ใช่ของผู้ก่อตั้งพรรค ผู้บริหารพรรค และไม่ใช่ของสมาชิกพรรค แต่พรรคการเมืองทุกพรรคเป็นของประชาชน จึงเห็นว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนจะไปเป็นสมาชิกพรรคใดก็ได้ และควรมีข้อจำกัดเท่าที่จำเป็น คนที่เคยเป็น ส.ว. ส.ส. หรือคนที่เคยทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ เมื่อพ้นตำแหน่งไปแล้ว ถูกห้ามไม่ให้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ทั้งที่ก็เป็นพลเมือไทยเหมือนกัน
“เห็นด้วยกับการจำกัดสิทธิ แต่ต้องมีเหตุผลและต้องพิจารณาความจำเป็น เพื่อจำกัดคนไม่ดี ไม่ควรให้สมัครเป็นส.ส. หากลอกมาทั้งหมดห้ามคนที่ไม่ควรเป็นส.ส. ห้ามเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเยอะเกินไป ผมไม่เห็นด้วยที่จะห้าม อดีตส.ว. เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ที่บอกว่าจะไปเอื้อประโยชน์ หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนนั้น ถูกห้ามไว้แล้วในกฎหมายอื่น ถูกห้ามเป็นตลอดชีพ ทั้งรัฐมนตรี ผู้บริหาร องค์กรอิสระ ตุลาการ ดังนั้น การห้ามไม่ให้อดีตส.ว.เป็นสมาชิกพรรคการเมืองเยอะเกินไป” นายดิเรกฤทธิ์ กล่าว
ภายหลังจากที่ที่ประชุมอภิปรายแล้วเสร็จได้ลงมติ ที่ประชุมลงมติ 262 ต่อ 51 เสียง เห็นชอบกับเนื้อหาที่กมธ.เพิ่มขึ้นใหม่ งดออกเสียง 126 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง