“ความรัก” นับเป็นความรู้สึกที่ทรงพลังมากที่สุดของมนุษย์ เรื่องราวอันน่าเหลือเชื่อมากมายเกิดขึ้นเพราะความรัก
ท่ามกลางความร้อนระอุของสงครามเย็น ความขัดแย้งระหว่างโลกเสรีนิยม และโลกคอมมิวนิสต์ ชายหญิงสองคนจากอีกฝากฝั่งของโลก กลับมาพบเจอกัน และเปลี่ยนสิ่งที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ ให้กลายเป็นเรื่องจริง
นี่คือเรื่องราวสุดโรแมนติกของ “โอลกา-ฮาโรลด์” นักกีฬาที่มาพบรักกันกลางโอลิมปิก เกมส์ 1956 และทำลายม่านเหล็กแห่งสงครามเย็น ก่อนแต่งงานกันในท้ายที่สุด
กำแพงที่แบ่งโลกเป็นสองด้าน
ก่อนจะพบรักกันในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก โอลกา ฟิกาโตวา และ ฮาโรลด์ คอนนอลลี มีชีวิตที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหญ่ ในช่วงเวลาที่เรียกว่า “สงครามเย็น”
Photo : HmmrMedia
ความตึงเครียดทางการเมืองที่แผ่กระจายไปทั่วโลก เริ่มต้นขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงในปี 1945 เมื่อสองมหาอำนาจแห่งฝ่ายสัมพันธมิตร ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต หันมาเป็นศัตรูกันเอง เนื่องจากอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ต่างกันสุดขั้ว
ทั้งสองประเทศไม่เคยปะทะกันโดยตรง แต่เลือกใช้สงครามตัวแทน, สงครามเศรษฐกิจ, โฆษณาชวนเชื่อ และการต่อสู้ทางภูมิศาสตร์ เป็นสมรภูมิรบของสงครามเย็น
สิ่งที่อธิบายการต่อสู้ทางภูมิศาสตร์ได้ดีที่สุด คือ “กำแพงเบอร์ลิน” กำแพงปิดกั้นพรมแดนที่ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1961 เพื่อป้องกันไม่ให้ชาวเยอรมันตะวันออกหนีไปฝั่งตะวันตก ซึ่งจะทำให้เกิดการไหลของแรงงาน และนำมาสู่ความหายนะของระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม
กำแพงเบอร์ลิน กลายเป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งแยกโลกทุนนิยม และโลกคอมมิวนิสต์ ประเทศในกลุ่มตะวันออก ถูกขนานนามว่า “ดินแดนหลังม่านเหล็ก” เนื่องจากการปิดกั้นตัวเองจากโลกภายนอกของสหภาพโซเวียต และรัฐบริวาร ส่งผลให้ผู้คนจากประเทศกลุ่มตะวันตก ไม่สามารถติดต่อหรือเดินทางเข้าไปในอาณาเขตของประเทศคอมมิวนิสต์
สงครามเย็นทำให้ความเกลียดชังระหว่างเพื่อนมนุษย์ลุกลามไปทั่วโลก เกิดกระแสต้านคอมมิวนิสต์ในสหรัฐฯ ส่งผลให้คนงานฝ่ายซ้าย ถูกลงโทษและปลดออกจากงานตามกฎหมาย ส่วนในสหภาพโซเวียต บุคคลที่มีความคิดแตกต่างจากรัฐบาล ถูกปราบปรามอย่างไม่ปราณี
Photo : HmmrMedia
มีเพียงไม่กี่โอกาสที่ผู้คนจากตะวันตกและตะวันออก จะสามารถพบเจอเพื่อพูดคุยกันอย่างเสรี หนึ่งในนั้นคือ “โอลิมปิก เกมส์” มหกรรมกีฬาระดับโลก ที่ถูกเปลี่ยนเป็นสมรภูมิชิงความเป็นเลิศด้านกีฬา ระหว่างโลกเสรีนิยม และโลกคอมมิวนิสต์
หญิงสาวจากเชโกสโลวาเกีย
ช่วงทศวรรษ 1950s ความขัดแย้งของสงครามเย็นพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุด สงครามตัวแทน และวิกฤตการณ์การเมืองปะทุขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วโลก ไล่ตั้งแต่ สงครามเกาหลี, การปฏิวัติฮังการี, วิกฤตการณ์สุเอซ และสงครามเวียดนาม
มหกรรมกีฬาโอลิมปิก 1956 ที่นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ถือเป็นสนามรบจำลองที่เกิดขึ้นเพื่อประชันความยิ่งใหญ่ ที่ร้อนแรงไม่แพ้สงครามภายนอก แม้จะมีหลายประเทศที่บอยคอตการแข่งขัน เนื่องจากการเข้าร่วมของสหภาพโซเวียต แต่ความดุเดือดจากการชิงเหรียญทองในเกมกีฬา ไม่ได้ลดน้อยลงไป
หนึ่งในกีฬาที่เป็นความหวังเหรียญทองของโลกคอมมิวนิสต์ คือ กีฬาขว้างจักรหญิง เพราะในโอลิมปิก เกมส์ 1952 ที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ นีนา โรมาชโควา นักขว้างจักรจากสหภาพโซเวียต สามารถคว้าเหรียญทอง พร้อมกับสร้างสถิติโอลิมปิก ด้วยระยะทาง 51.42 เมตร
นีนา โรมาชโควา ไม่ใช่ตัวเต็งเพียงรายเดียวจากกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ เพราะยังมี โอลกา ฟิกาโตวา นักขว้างจักรสาววัย 24 ปี จากเชโกสโลวาเกีย ที่มีพรสวรรค์หาตัวจับได้ยาก กล่าวกันว่า เธอเพิ่งเล่นกีฬาขว้างจักรเพียงสองปี แต่มีความสามารถสูงมาก จนแชมป์เก่าอย่างนีนา เชิญชวนให้โอลกาเข้ามาฝึกซ้อมร่วมกัน
Photo : Medium
“ฉันเล่นกีฬามาตั้งแต่อายุ 14 ปี ก่อนจะผ่านการฝึกฝนขว้างจักรเพื่อไปโอลิมปิก ฉันผ่านประสบการณ์ในกีฬาอื่นมานานถึง 7 ปี” โอลกา เล่าประสบการณ์ในเกมกีฬาของเธอ
“ฉันอาจจะเล่นกีฬาขว้างจักรไม่ถึงสองปี แต่ฉันเคยผ่านการแข่งขันแฮนด์บอล และบาสเกตบอลในระดับยุโรป แถมยังเคยติดทีมชาติมาก่อน เพราะฉะนั้น ฉันถือเป็นนักกีฬาที่ผ่านการฝึกฝนมาอย่างดี”
โอลกาเปิดตัวในฐานะม้ามืดของทัวร์นาเมนต์และทำให้ผู้ชมมากกว่าหนึ่งแสนคนในสนามต้องอ้าปากค้าง เพราะเธอไม่เพียงคว้าเหรียญทองจากการแข่งขัน แต่ยังเขียนสถิติใหม่แก่โอลิมปิก ด้วยระยะการขว้าง 53.69 เมตร
ความสำเร็จดังกล่าวควรจะทำให้ โอลกา ฟิกาโตวา ถูกยกย่องในฐานะฮีโร่ของชาติ เพราะเธอคือนักกีฬาชาวเชโกสโลวาเกียเพียงคนเดียว ที่คว้าเหรียญทองจากโอลิมปิก เกมส์ 1956
แต่โอลกากลับถูกจดจำในฐานะผู้ทรยศ เมื่อเธอปลูกต้นรักกับนักกีฬาชาวอเมริกัน บุคคลจากประเทศเผด็จการฟาสซิสต์ (ในสายตาคอมมิวนิสต์) ที่ไม่ควรสานสัมพันธ์กับประชาชนชาวตะวันออกด้วยประการทั้งปวง
ต้นรักเบ่งบานกลางโอลิมปิก
หนุ่มหล่อที่มัดใจนักกีฬาสาวเจ้าของสถิติโอลิมปิก คือ ฮาโรลด์ คอนนอลลี นักกีฬาขว้างค้อนชาวสหรัฐอเมริกา ที่ประสบความสำเร็จในโอลิมปิก เกมส์ 1956 จากการคว้าเหรียญทอง เช่นเดียวกับ โอลกา หลังเอาชนะ มิคเฮล ครีโวโนซอฟ นักกีฬาตัวความหวังจากสหภาพโซเวียต ในการแข่งขันสุดเร้าใจ
โชคชะตาพาหญิงสาวจากกรุงปราก และชายหนุ่มจากเมืองบอสตัน สองนครที่มีระยะทางห่างกันกว่า 6,000 กิโลเมตร มาพบเจอกันในหมู่บ้านนักกีฬากลางนครเมลเบิร์น
Photo : NewYork Times
โอลกาเริ่มสานสัมพันธ์กับฮาโรลด์ โดยไม่สนใจว่านักขว้างค้อนชาวอเมริกัน เพิ่งเอาชนะเพื่อนนักกีฬาจากค่ายคอมมิวนิสต์ เธอโยนความแตกต่างทางการเมืองไว้เบื้องหลัง และสนใจกับสิ่งสำคัญนี่หล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์ นั่นคือ “ความรัก”
“โชคชะตาพาเรามาพบกัน และถึงแม้ว่าเราจะมาจากฝ่ายตรงข้ามที่อยู่ห่างไกลกันอีกซีกโลก โดยเฉพาะแนวคิดทางการเมืองที่ดูเหมือนจะเข้ากันไม่ได้อย่างสิ้นเชิง” โอลกา กล่าวถึงความรักที่เบ่งบานกลางโอลิมปิก เกมส์
“แต่เมื่อเราตัดเรื่องพวกนั้นออกไป และเริ่มพูดถึงค่านิยมพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ รวมถึงทำความรู้จักกันและกัน ในฐานะคนธรรมดาคนหนึ่ง เราสองคนมีอะไรเหมือนกันมากกว่าที่คิด”
ทั้งสองก้าวข้ามอุปสรรคทุกอย่างที่ขวางกั้นความรักของพวกเขา โอลกาสื่อสารกับฝ่ายชายด้วยความรู้ด้านภาษาอังกฤษที่มีอยู่น้อยนิด ส่วนคอนนอลลีพูดคุยกับอนาคตภรรยาด้วยภาษาเยอรมัน เพราะเขาเชื่อว่า โอลกาจะฟังภาษาเยอรมันรู้เรื่อง เนื่องจากเยอรมันตะวันออก คือหนึ่งในประเทศจากโลกคอมมิวนิสต์ เช่นเดียวกับ เชโกสโลวเกีย
ความโรแมนติกนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในชีวิตรักของทั้งคู่ เพราะอีกด้าน ความรักของโอลกาและฮาโรลด์ ถูกกีดกั้นโดยผู้คนจำนวนมากที่ยึดมั่นกับโฆษณาชวนเชื่อในสงครามเย็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ ผู้คนหลักม่านเหล็ก ที่ไม่เคยเปิดใจให้กับนักกีฬาหนุ่มชาวอเมริกัน เพียงเพราะเขามาจากประเทศที่มีแนวคิดแตกต่างออกไป
“ฉันเคยพาสามีของฉันไปแนะนำตัวกับหัวหน้าคณะผู้แทนนักกีฬา พวกเขาแทบจะเดินหนีเราในทันที มีคนหนึ่งพูดว่า ‘ขออนุญาต’ แล้วเดินออกไป พวกเขาไม่คิดจะพูดอะไรกับเราเลย”
Photo : Wikimidia Commons
“ฮาโรลด์โมโหมาก เขาพูดว่า ‘ผมไม่ได้เป็นโรคติดต่ออะไรนะ’ ฉันตอบกลับไปว่า เดี๋ยวสักวันเขาจะเข้าใจ แต่ตอนนี้เราต้องกลับไปยังที่นั่งของเรา เพราะฉันเริ่มจะกลัวแล้ว”
“อย่างไรก็ดี ตอนนี้ฉันมองเห็นแล้วว่า คนพวกนั้นโง่เขลามากแค่ไหน ถ้าคุณไม่เปิดใจที่จะรู้จักคนอื่น คุณมีสิทธิ์ตัดสินพวกเขาได้อย่างไร ?”
ยิ่งอุปสรรคมากเท่าไหร่ ทั้งสองยิ่งใกล้ชิดกันมากขึ้นเท่านั้น โอลกา และฮาโรลด์ จึงตัดสินใจจะแต่งงานกันในปีถัดมา ทั้งที่ไม่รู้ว่าความฝันของพวกเขาจะเป็นจริงหรือไม่ เพราะฝ่ายหญิงต้องรายงานความรักของเธอต่อรัฐบาล และการแต่งงานจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อประธานาธิบดีอนุญาตเท่านั้น
ความรักไร้พรมแดน
“ฉันกลับสู่บ้านเกิดในฐานะนักกีฬาเหรียญทองเพียงคนเดียวของชาติ มีคนบอกว่า ฉันนำความภาคภูมิใจกลับมาแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะอีก 50 เปอร์เซ็นต์ คือความอับอาย ที่ฉันคบหากับเผด็จการอเมริกัน”
โอลการู้ดีว่า มีโอกาสสูงมากที่งานแต่งงานของพวกเขาจะไม่เกิดขึ้น จึงถึงเวลาที่สงครามประสาทตามสไตล์สงครามเย็นเริ่มต้นขึ้น ฮาโรลด์ประกาศต่อสาธารณชนว่าเขาต้องการจะแต่งงานกับผู้หญิงชาวเชโกสโลวาเกีย ขณะที่ จอห์น ฟอสเตอร์ ดัลเลส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น กล่าวว่า “เขาเชื่อมั่นในพลังแห่งความรัก”
เมื่ออีกฝ่ายเปิดฉากมาขนาดนี้ เชโกสโลวาเกีย จึงทำอะไรไม่ได้มากนอกจากยินยอมให้การแต่งงานเกิดขึ้น ภายใต้ข้อแม้ว่า งานแต่งงานต้องเกิดขึ้นในเชโกสโลวาเกีย และโอลกาจะหมดสิทธิ์ลงแข่งขันในฐานะนักกีฬาทีมชาติอีกต่อไป
Photo : Medium
“ประธานาธิบดีบอกฉันว่า หากฉันเลือกจะอาศัยอยู่ที่นี่ เขาจะไม่อนุญาตให้ฉันแข่งขันกีฬาอีกต่อไป เพราะพวกเขาคิดว่า ฉันจะหนีออกจากประเทศ และขายชาติให้กับพวกอเมริกันหน้าเงิน”
“โชคชะตานำฉันกับฮาโรลด์มาพบกัน เพื่อแสดงให้เห็นว่า พวกเราจะเป็นศัตรูกันต่อไป หรือจะมีความสุขด้วยกันเสียที”
โอลกาเลือกความรักก่อนประเทศชาติ เธอตอบรับคำขอของประธานาธิบดี และยื่นเอกสารอพยพสู่สหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ การกระทำนี้ของเธอเข้าทางรัฐบาลเชโกสโลวาเกียที่จะใช้เป็นข้ออ้างว่า พวกเขาไม่เคยขับไล่ฮีโร่โอลิมปิก แต่โอลกาเลือกจะหนีออกจากประเทศด้วยตัวเอง
งานแต่งงานของ โอลกา ฟิกาโตวา และ ฮาโรลด์ คอนนอลลี จัดขึ้นที่จัตุรัสใจกลางกรุงปราก มีผู้คนกว่า 30,000 คนร่วมเป็นสักขีพยาน บรรยากาศเป็นไปด้วยดีกว่าที่ทั้งสองคาดการณ์ ประชาชนพากันร้องเพลงเพื่อเฉลิมฉลองแก่คู่รัก แม้แต่นายตำรวจของรัฐ ยังโบกมือเพื่อเป็นการแสดงความยินดีแก่พวกเขา
เมื่องานแต่งงานสิ้นสุด โอลกา และฮาโรลด์ ย้ายไปใช้ชีวิตร่วมกันที่สหรัฐอเมริกา สำหรับโอลกา เธอลงแข่งขันในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ในนามทีมชาติสหรัฐอเมริกา อีกหลายครั้ง และยังได้รับเกียรติให้ถือธงชาติสหรัฐฯ ในงานพิธีเปิดโอลิมปิก เกมส์ 1972 ที่เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมันตะวันตก นับเป็นนักกีฬาหญิงคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้
Photo : Wikimidia Commons
แม้ท้ายที่สุด ความสัมพันธ์ของทั้งสองจะไม่ชื่นมื่นไปตลอดกาล โอลกา และฮาโรลด์ แยกทางกันในปี 1975 ก่อนที่ฮาโรลด์จะเสียชีวิตเมื่อปี 2010 แต่เรื่องราวความรักของพวกเขายังคงถูกเล่าขานมาจนถึงปัจจุบัน
ในฐานะหลักฐานที่ยืนยันว่า ความเกลียดชังจากสงคราม และแนวคิดทางการเมืองที่แตกต่าง ไม่อาจมีอำนาจเหนือ “ความรัก” ความรู้สึกที่ทรงพลังที่สุดบนโลกใบนี้