วันที่ 22 ธันวาคม 2566 น.ส.รักชนก ศรีนอก หรือ ไอซ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ได้มีการโพสต์ข้อความ ผ่าน Facebook ว่า “ผ่านไป 1สัปดาห์ หลังฟังคำพิพากษา อยากจะเขียนโพสต์ เพื่อเป็น time stamp เผื่อว่าประเทศไทยในอนาคตจะต่างจากวันนี้”
13 ธันวาคม 2566 คือวันฟังคำพิพากษาคดี 112 และ พ.ร.บ.คอม เช้านั้น พี่ทิม พี่ต๋อม พี่กล้า ยานาวา เต้ ยุดยา เพื่อนสส. เพื่อนๆ และป้า ๆ อีกหลายคนมารอที่ศาลอาญา รัชดาให้กำลังใจแต่เช้า พี่ต๋อม หัวหน้าพรรคก้าวไกล รับเป็นนายประกันในคดีให้เช้านั้นแกลืมเอาบัตรประชาชนมา เลยให้ผู้ช่วยนั่งแกร๊บ กลับไปเอามาจากบ้าน ตอนควักเงินจะจ่าย ผู้ช่วยบอกว่า ค่าแกร๊บ 112฿ ครับ ตอนนั้นไอซ์ พี่ต๋อม พี่กล้า มองหน้ากัน แล้วขำอยู่3นาที แต่พี่ต๋อมขำนานกว่าคนอื่น แกรีบยื่นเงินให้ผู้ช่วย แล้วบอกว่า เอาไปเลย 120฿ ไม่ต้องทอนนะ พร้อมกับส่ายหัวไปขำไป
ที่หน้าบัลลังก์ พี่ทิมหันมาพูดอะไรสักอย่างจำไม่ได้ ตอนนั้นหูอื้อสักพักผู้พิพากษาคนเดิมก็เดินออกมา จำได้ว่าครั้งนึงวันสืบพยาน 24 มีนาคม 2566 ก่อนให้การในคอกทุกคนต้องสาบานตนในศาล ไอซ์อ่านวรรคสุดท้ายไม่ครบ ศาลจึงเตือนว่า ต้องพูดให้ครบ ไม่รู้ว่าพูดจริงหรือพูดประชด ศาลพูดว่า แล้วคุณจะต่อด้วย ขอให้ได้เป็นสส. อะไรก็ได้แล้วแต่คุณเลย ไอซ์ เลยสาบานว่า
“หากข้าพเจ้ากล่าวความจริงต่อศาล ขอให้ข้าพเจ้าจงประสบ แต่ความสุขความเจริญและได้เป็นสส. พรรคก้าวไกลรอบนี้ด้วย สาธุ”
2 เดือนต่อมา 14 พฤษภาคม 2566ได้รับเลือกให้เป็น สส. เขตบางบอน จอมทอง หนองแขม ด้วยคะแนน 47,592 คะแนน ห่างจากที่สอง เกือบสองหมื่นคะแนน
- แม่โวย! คนขับรถส่ง นร. ล่อลูกสาววัย14 ให้หลงรัก ก่อนล่วงละเมิดทางเพศ
- วันชัย ชี้! ‘ทักษิณ’ ขังนอกเรือนจำได้ ลั่น ประเทศไหนๆ ก็ทำกัน
- อย่าหลงเชื่อ! เพจปลอม อ้างชื่อ ‘ประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์’ หลอกลงทุน
อีก 1 เดือนต่อมา 12 มิถุนายน 2566 สืบพยานปากสุดท้าย วันนั้นอยู่ในตำแหน่งผู้แทนราษฎร ก่อนลาศาล จึงทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2566 ให้ศาลฟังว่าศาลเคยให้สาบาน ไว้ว่ายังไง มาวันนี้ ได้เป็น สส. แล้ว ศาลยิ้ม แล้วบอกว่า ปั่นจักยานเก่งจังเลย พี่อานนท์ นำภา (ที่ตอนนั้นยังไม่ถูกขัง โดยไม่ให้ประกัน) บอกว่าท่าทีแบบนี้ส่วนใหญ่ลง 100% (ฮ่าๆ)
จริงดังคำทำนาย
13 ธันวาคม 25/66 ศาลตัดสินว่าผิด ข้อหา หมิ่นประมาทอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ ม.112 และ พ.ร.บ.คอม ระหว่างฟังคำพิพากษา มีแต่คำถามในหัว เราพิสูจน์กับศาลไปแล้ว ว่าเราไม่ได้เป็นคนโพสต์และทำให้ดูว่าการตัดต่อภาพเพื่อการใส่ร้ายกันมันง่ายแค่ไหน ผู้ฟ้องไม่ได้เห็นโพสต์เองด้วยซ้ำ เพียงแต่เอารูปมาจากในกลุ่มไลน์ ซึ่งเราโดนตัดต่อรูปไปโจมตีทุกวัน
ทนายถามว่าต้องใส่กุญแจมือด้วยหรือซึ่งไอซ์ก็เพิ่งทราบภายหลังว่าแม้แต่คดีหนักๆอย่างฆ่าคนตาย หรือคอรัปชั่นโทษสูงๆ ก็ยังไม่ต้องใส่กุญแจมือเลย เพื่อนเรา ผู้ช่วยเราร้องไห้ แต่เราไม่ร้อง ในใจไม่มีความกลัว ตั้งแต่เกิดมาก็ไม่เคยกลัวอะไร นอกจากผีอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด พร้อมอยู่แล้ว
เราเดินเท้าเปล่าไปที่ลิฟต์ ซึ่งเป็นลิฟต์ตัวเดียวกับที่ใช้รับส่งนักโทษ ถูกพาตัวไปรวมกับนักโทษเด็ดขาดอยู่ห้องเดียวกัน ใต้ถุนศาลก็มีอะไร น่าสนใจหลายอย่าง ส้วมในศาลค่อนข้างสกปรก ฝาที่นั่งพังแหล่ไม่พังแหล่ ไม่มีกระดาษชำระประตูห้องน้ำจะมีขนาดครึ่งนึงของประตูปกติ แค่ยืนขึ้นก็สามารถสบตากับคนที่อยู่ด้านนอกได้และเมื่อเหลือบมองห้องข้างๆ ก็จะเห็นเค้าทำธุระโดยตลอด
เพื่อนส.ส.และเพื่อน ๆ หลายคนมาเยี่ยมที่ใต้ถุนศาลเกาะราวกั้น ส่วนเราเกาะลูกกรง ยืนคุยกันจนหมดเรื่องคุย เลยเปลี่ยนมาชวนคนที่ อยู่ในห้องขังคุยแทน ครึ่งหนึ่งเป็นคดียาเสพติด มีทุกรูปแบบ แต่ทุกคนเป็นเพียงรายย่อย ส่วนใหญ่ไม่กล้าซัดทอด อีก 1 ใน 3 เป็นคดีฉ้อโกง บัญชีม้า ลักทรัพย์ ไอซ์ว่าสัดส่วนคดีของผู้ต้องขังในเรือนจำก็สะท้อนอะไรหลาย ๆ อย่างในสังคมเราได้เหมือนกัน ผู้เสพ ผู้ค้ารายย่อย ออกไปแล้วก็กลับเข้ามา ไม่มีการบำบัดอย่างต่อเนื่องและถูกวิธี ไม่ได้รับการฝึกอาชีพที่จะขยายให้ขอบเขตความเป็นไปได้ของทางเลือกในอาชีพมากขึ้น ไม่มีกระบวนการเพิ่มพูนความรู้ที่นำไปใช้ได้จริง ๆ โลกนอกห้องขังทั้งก่อนและหลังเข้าไปก็คือโลกเดิม ยาเสพติดยังเข้าถึงง่าย ไร้มาตรการควบคุมทีาเคร่งครัด สังคมก็ประณามคนเสพคนรายย่อย ส่วนตัวการใหญ่ “เจอ จ่าย จบ”
ศาลพิพากษา จำคุก 6ปี ไม่รอลงอาญา จากนั้นเจ้าหน้าที่บอกให้เอาของมีค่าออกให้หมด รองเท้าที่ใส่มาเป็นส้นสูง ซึ่งมันก็เริ่ดระดับนึง ก็ถอดออกด้วย เหลือแค่เสื้อผ้า กับกุญแจมือ
ญาติ ๆ สามารถมาเยี่ยมนักโทษได้ แต่วันนั้นโทรศัพท์ใต้ถุนศาลพัง หลายคนที่ลางานมารอเยี่ยมญาติ ผู้ต้องขัง ต้องรอนานขึ้นอีกสักประมาณสามโมงกว่า ๆ ทนายเดินมายกนิ้วโป้งให้ ก็รู้ว่าน่าจะได้ประกัน พอได้ออกมา กอดเพื่อน ๆ รีบขับรถไปสภาฯ เพื่อให้ทันโหวตร่างระเบียบการประชุมก้าวหน้า ผ่านวันไปแบบรีบๆ มีทุกอารมณ์ แต่ก็งง ๆ ไม่ตกผลึก เป็นวันที่ทั้งน่าจดจำที่สุดและไม่น่าจดจำที่สุดในชีวิต
เกี่ยวกับคำพิพากษา แน่นอนว่าไอซ์น้อมรับ แม้จะตระหนักดีว่าทั้งตัวบทกฎหมาย การบังคับใช้และกระบวนการวิธีพิจารณามีปัญหา นี่ไม่ใช่ความคิดเห็นแต่เป็นข้อเท็จจริง ขออนุญาตยกคำสัมภาษณ์ของอาจารย์มุมินทร์ พงศปาน อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ที่ได้พูดไว้ในรายการ The Politics ว่า อาจารย์เป็นคนหนึ่งที่เห็นด้วยว่าประมุขของรัฐจำเป็นจะต้องมีกฎหมายคุ้มครองเป็นหลักการสากล แต่ตามหลักการโทษก็ต้องได้สัดส่วนด้วยกับการกระทำความผิดด้วย และในช่วงหนึ่งอาจารย์พูดเอาไว้ได้น่าสนใจ ขอยกมาทั้งหมด
“คดีของคุณไอซ์ก็มีคำถามในทางกฎหมายเยอะแยะมากมาย วันนี้ช่วงค่ำเราก็เพิ่งเห็น press release ของศาลอาญา เข้าใจว่าตัดตอนมาจากคพิพากษาของศาลอาญาบางส่วน ซึ่งมีข้อความที่แรงมาก อย่างเช่น ในคำวินิจฉันของศาลเนี่ย บอกว่าการที่จำเลยไม่ให้ความร่วมมือ แล้วก็ไม่พยายามที่จะนำเสนอพยานหลักฐานเพื่อแก้ตัว แสดงให้เห็นถึงเจตนาที่ไม่สุจริต ซึ่งคำอธิบายแบบนี้ เป็นคำอธิบายที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อน เพราะปกติแล้ว หลักในคดีอาญาที่ทุกคนทราบ ทุกคนเรียนคนที่กล่าวหาซึ่งก็คือพนักงานอัยการ มีหน้าที่ภาระการพิสูจน์ ก็คือต้องนำพยานหลักฐาน มาทำให้ศาลเชื่อ ระดับที่ต้องพิสูจน์ ต้องพิสูจน์จนเรียกว่าสิ้นสงสัย ว่าเค้ากระทำความผิดจริง เพราะฉะนั้นมันเป็นหน้าที่ของฝ่ายโจทก์ ก็คืออัยการต้องพิสูจน์ว่าเค้าเนี่ยเป็นคนแชร์โพสต์เป็นคนกระทำความผิด แต่ไม่ใช่ว่ากลายเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ต้องบอกว่าตัวเองบริสุทธิ์ยังไง กลายเป็นว่ากลับตาลปัตรพอมาอธิบายในเชิงเหตุผล ซึ่งก็เป็นคำพิพากษาที่น่าสนใจมาก และผมคิดว่าน่าจะเป็นคำพิพากษาตัวอย่างของการศึกษา ในมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนกฎหมายไปอีกยาวนานเลยสำหรับคำพิพากษาคดีนี้ เพราะมันเป็นตัวอย่างที่ตรงข้ามกับสิ่งที่เราเรียนกันมา ตลอดในเรื่องของการพิสูจน์ความผิดในคดีอาญา”
ไอซ์ขอย้ำว่าสิ่งที่โจทก์นำมาฟ้อง เป็นรูปที่มีคนส่งมาในไลน์ ไม่มีประจักษ์พยานที่ได้เห็นข้อความจากทวิตของไอซ์มาเป็นพยานสักคนเดียว ในรูปไม่มี URL ส่วนรูปที่อ้างว่ารีทวิต ไม่มีแม้กระทั่ง username ด้วยซ้ำ! ตำรวจไม่เคยขอหมายศาลเพื่อยึดมือถือมาตรวจสอบ ทั้ง ๆ ที่เป็นคดี พ.ร.บ.คอม นักกฏหมายทั่วไปก็ทราบดี ถ้าพยานหลักฐานโจทก์ไม่ถึง เป็นคดีทั่วไป คงต้องยกฟ้องแต่คำพิพากษากลับกลายเป็นว่า เพราะจำเลยไม่พยายามจะหาพยานหลักฐานมาเพื่ออธิบายตัวเอง เป็นสิ่งที่ขัดกันกับเนื้อหาที่สอนอยู่ในคณะนิติศาสตร์ทั่วประเทศเป็นการหลักภาระ การพิสูจน์พยานหลักฐานคดี 112 ให้อยู่กับจำเลย
“คุณเมย์” จากศูนย์ทนายสิทธิฯ โพสต์ว่า ถามทนายคนไหน ลงไม่ลง ทุกคนตอบว่า ศาลลงโทษแน่นอน แต่ไม่มีใครสามารถให้เหตุผลในทางกฎหมายได้ นี่คือกระบวนการยุติธรรม ที่นักโทษการเมืองต้องเจอ โทษในคดีฆาคนตาย เช่น คดีตำรวจ ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก ขับบิ๊กไบค์ชนหมอกระต่าย กรณีศาลอาญาพิพากษาจำคุก 1 ปี 15 วัน กรณี นายเจนภพ วีรพร ขับรถเบนซ์ ชนรถ 2 นักศึกษา ป.โท จนถูกไฟคลอกเสียชีวิตทันที ศาลพิพากษาจำคุก 4 ปี กรณี แพรวพราว 9 ศพ (บาดเจ็บสาหัส 5) ศาลสั่งโทษจำคุก 3 ปี คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จำคุกขั้นต่ำ 3ปี และไอซ์ โดนโทษ จำคุก 6ปี ไม่รอลงอาญา
ตอนนี้มีผู้ถูกกล่าวหาคดี 112 ที่อยู่ในห้องขัง และยังไม่ได้สิทธิ์ในการประกันตัวอย่างน้อย 15 คน มีผู้ถูกกล่าวหาคดีการเมืองอื่น ๆ ที่อยู่ในห้องขัง และยังไม่ได้สิทธิ์ในการประกันตัวอย่างน้อย 37 คน และมีผู้ที่รอฟังคำพิพากษาอีกหลายสิบคนในปีหน้า สิทธิ์การประกันตัวเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่ถูกรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ ที่ผู้ถูกกล่าวหาในคดีที่ยังไม่สิ้นสุดพึงจะได้รับ อย่างเช่นคดีปรากฏแก่สาธารณะชน
คดีเจตนาฆ่า ลุงพล-น้องชมพู่ ที่โดนโทษสูงมากถึง 20 ปี ศาลยังให้ประกันตัวออกมาเพื่ออุทธรณ์สู้คดีได้ ไอซ์ก็ขอเรียกร้อง มาตรฐานกระบวนการยุติธรรมเดียวกัน ให้กับนักโทษทางการเมืองทุก ๆ คดี หรือกระบวนการยุติธรรมของประเทศนี้ กำลังจะสื่อสารกับสังคมว่าผู้ต้องหาคดีการเมือง ที่เกิดการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพในการแสดงออก เป็นการกระทำผิดร้ายแรงมากกว่าคดีฆ่าคนตายโดยเจตนา
ฝั่งอนุรักษ์นิยมจารีต อาจดีใจที่ศัตรูทางการเมืองของคุณถูกกฏหมายที่มีปัญหาและกระบวนการที่อยุติธรรมกำจัด แต่อยากให้ลองฉุกคิดสักนิด ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมถึงเวลา มันไม่เลือกหรอกว่าอยู่ฝั่งไหน มันทำร้ายเราทุกคนเราจะส่งต่อสังคมที่บิดเบี้ยวแบบนี้ต่อให้คนรุ่นถัดไปจริง ๆ เหรอ สุดท้ายแม้ไอซ์จะดีใจที่ได้ประกันตัวออกมาสู้คดี แต่ก็รู้สึกละอายใจที่สิทธิในการได้รับการประกันตัวในคดี 112 ซึ่งควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน กลายเป็น “อภิสิทธิ์” หลายคนที่โดนคดี 112 ยังไม่ได้รับการประกันตัว เช่นคุณวารุณี ซึ่งถูกลงโทษเพียง 1 ปี 6 เดือนเท่านั้นเองรูปนี้เป็นรูปที่กินไก่ย่าง 5ไม้ ข้าวเหนียว 1ห่อ ก่อนไปขึ้นศาล