รองโฆษกรัฐบาล แจง คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย บิ๊กตู่ ดันไทยเป็นฐานผลิต รถยนต์ไฟฟ้า สำคัญของโลก มาตั้งแต่ ปี58 โว ปัจจุบัน มาตรการส่งเสริมการลงทุน ครบวงจร นักลงทุน ยื่นขอ ต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 65 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากกรณีที่นายวิกรม เตชะธีราวัฒน์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เชียงราย และคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นต่อกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงยุทธศาสตร์ 3 แกน โดยระบุนโยบายการผลักดันของรัฐบาลที่จะให้ประเทศไทยเป็นฐานในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเป็นเพียงการขายฝัน เพราะไม่มีนโยบายหรือมาตรการส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร ไม่มีการส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่ที่มีคุณภาพสูงนั้น
“ขอแจ้งเพื่อให้ข้อมูลนายวิกรม และคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยทราบว่านายกรัฐมนตรีได้มีนโยบายและวางแผนงานเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลกมาตั้งแต่ปี 2558 โดยการกำหนดให้ อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อเป็นกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต และมีการวางแนวทางขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่องโดยการตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือคณะกรรมการ EV ขึ้นมาดูแล และขณะนี้มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่มีผลบังคับใช้แล้วอย่างครบวงจร” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ตามที่นายวิกรมได้แจ้งว่าคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยได้ศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ เรื่องอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามา 3-4 ปีแล้ว นับเป็นเรื่องที่ดีที่ทีมเศรษฐกิจของพรรคต่างๆ จะได้ร่วมกันในการหาแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ซึ่งในเรื่องยานยนต์ไฟฟ้านี้นายกรัฐมนตรีก็ได้มีนโยบายมาตั้งแต่แต่ปี 2558 และมีแผนงานผลักดันต่อเนื่องมาโดยลำดับ จนขณะนี้มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนและมาตรการรองรับ และความร่วมมือกับภาคเอกชนโดยครบวงจรแล้ว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ตามเป้าหมายของรัฐบาล ภายใต้การขับเคลื่อนของคณะกรรมการ EV ต้องการให้ภายในปี 2573 ประเทศไทยจะมีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 30% ของการผลิตรถยนต์ในไทย โดยรัฐบาลมีแพคเกจส่งเสริมการลงทุนทั้งภาษีและไม่ใช่ภาษีเพื่อรักษาความเป็นผู้นำนอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับแพคเกจในระยะสั้นเพื่อสร้างความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ทั้งรถยนต์ จักรยานยนต์ ระหว่างปี65-68รัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมเป็น 2 ระยะ(ตามมติ ครม. วันที่ 15 ก.พ. 2565) นอกจากนี้ มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งส่วนของรถยนต์ รถโดยสาร จักรยานยนต์ เรือไฟฟ้า ผู้ผลิตชิ้นส่วน และแบตเตอรี่
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำนักงานบีโอไอก็ได้รายงานว่านักลงทุนได้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการบีโอไอ เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ที่ผ่านมา บีโอไอก็ได้แจ้งว่า เฉพาะกิจการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานพาหนะไฟฟ้า ขณะนี้มีการขอรับการส่งเสริมแล้วจำนวน 16 โครงการจาก 10 บริษัท รวมเงินลงทุน 4,820 ล้านบาท และมีโครงการที่ได้รับส่งเสริม การลงทุนในกิจการผลิตแบตเตอรี่ที่มีความจุสูง (HIGH ENERGY DENSITY BATTERY) รวม 3 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 6,746 ล้านบาท