รพ.สนามธรรมศาสตร์ หวั่นยาฟาวิพิราเวียร์ขาดแคลน วอนรัฐบาลเร่งเพิ่มศักยภาพการผลิต

Home » รพ.สนามธรรมศาสตร์ หวั่นยาฟาวิพิราเวียร์ขาดแคลน วอนรัฐบาลเร่งเพิ่มศักยภาพการผลิต
รพ.สนามธรรมศาสตร์ หวั่นยาฟาวิพิราเวียร์ขาดแคลน วอนรัฐบาลเร่งเพิ่มศักยภาพการผลิต

รพ.สนามธรรมศาสตร์ ชี้สถานการณ์หนัก หวั่น “ยาฟาวิพิราเวียร์” ขาดแคลน หวังรัฐบาลตัดสินใจด่วน เร่งเพิ่มศักยภาพผลิต

วานนี้ (1 ส.ค.) เฟซบุ๊กแฟนเพจ รพ.สนามธรรมศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่อาจทำให้ประสบกับภาวะขาดแคลนยาฟาวิพิราเวียร์ โดยระบุว่า “วันอาทิตย์ที่ 1 สิงหาคม วันที่ 113 ของโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ และวันที่ 52 ของศูนย์รับวัคซีนธรรมศาสตร์รังสิต

วันนี้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังคงมากกว่า 18,000 คน และมีผู้เสียชีวิตรวม 133 คน จำนวนผู้ป่วยรายวันที่จะแตะสองหมื่นคนต่อวัน และมีแนวโน้มว่าจะอยู่แถวๆ นี้ไปอีกอย่างน้อยหนึ่ง หรือสองสัปดาห์ ทำให้จำเป็นต้องคิดและกำหนดแผนการอะไรบางอย่างในระดับประเทศแน่นอน

เมื่อวันก่อน สภาเภสัชกรรมออกแถลงการณ์เตือนมาแล้วว่า ต่อให้องค์การเภสัชกรรมของเราจะผลิต Favipilavir ได้เองแล้ว แต่ในหลายเดือนจากนี้ไป ศักยภาพการผลิตของเราจะอยู่ที่เดือนละ 2-3 ล้านเม็ด และหากผู้ป่วยใหม่อยู่ในระดับนี้ และมีนโยบายให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาอย่างเร็วตามที่ สธ.กำหนด เราจะต้องใช้ยาถึงวันละหนึ่งล้านเม็ด (ผู้ป่วยคนหนึ่งใช้ยาโดสละ 50 เม็ด) และภายในสัปดาห์หน้า ประเทศจะขาดยา Favi อย่างแน่นอน ถ้าหากรัฐบาลไม่เร่งดำเนินการให้โรงงานผลิตยาของเอกชนที่มีมาตรฐานสูงในระดับเดียวกันเข้ามาช่วยผลิตยาเพิ่มจากที่องค์การเภสัชกรรมทำอยู่

คำเตือนของสภาวิชาชีพเภสัชกรรมนี้ เป็นการประเมินความต้องการใช้ยาของประเทศที่น่าเชื่อถือมากที่สุด เพราะยา Favi ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสชนิดเดียวที่มีใช้อยู่ในประเทศ ที่ใช้กับผู้ป่วยโควิดทุกๆ เม็ด ในทุกๆ โรงพยาบาล ถูกสั่งจ่ายออกไปโดยสมาชิกของสภาวิชาชีพนี้ทั้งสิ้น

เราหวังว่ารัฐบาลจะตัดสินใจเรื่องนี้อย่างรวดเร็วที่สุด และการตัดสินใจว่าจะไม่ตัดสินใจ ก็จะต้องมีคำอธิบายที่ดีสำหรับประชาชนด้วยนะ เพราะถ้าไม่ได้ทำอะไรเลย ประมาณกลางเดือนสิงหาคม ~อีกสักสองสัปดาห์~ เราก็จะได้ยินเพิ่มว่า นอกจากวัคซีนขาด เตียงขาดแล้ว ยารักษาโควิดยังขาดอีกด้วย ที่น่าเศร้าก็คือ เรื่องนี้จะเกิดขึ้นในประเทศที่เคยถูกยกย่องว่า มีระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลกติดต่อกันมาหลายปีแล้ว

  • ไทยเตรียมผลิตยา “ฟาวิพิราเวียร์” ใช้เองในประเทศ คาดขึ้นทะเบียน อย. ได้ภายในเดือนนี้

วันนี้เป็นวันแรกของเดือนสิงหาคม เดือนที่สถานการณ์ที่ผู้ป่วยด้วยโรคระบาดจะหนักที่สุดเท่าที่เราเคยเผชิญกันมา ระบบโรงพยาบาลที่พอจะผ่อนสั้นผ่อนยาวและดูแลผู้ป่วยมาได้อย่างสะบักสะบอมในช่วงที่ผ่านมา จะเผชิญกับจำนวนผู้ป่วยที่ถึงจุด Peak ในเดือนนี้แหละ ~ตามทฤษฎีระบาดวิทยาทุกทฤษฎี ~ดังนั้นเราจึงจะต้องเสริมแนวป้องกัน ขุดสนามเพลาะและเตรียมอาวุธที่เหลืออยู่ในทุกโรงพยาบาล เพื่อรบในสงครามไวรัสที่โหดร้ายที่สุดที่กำลังจะมาถึงตัวพวกเราแล้วให้ได้

ที่ธรรมศาสตร์ เรารู้อยู่แล้วว่าเราจะเผชิญกับอะไรบ้าง พรุ่งนี้ ER ของเราจะเปิดปกติเพื่อรองรับผู้ป่วยฉุกเฉินและอุบัติเหตุ ห้อง Negative Pressure สองห้องใหญ่และ Nurse Station ที่เป็น Positive Pressure ในโซน ER พร้อมด้วยชุดอุปกรณ์ป้องกันคนของเราที่ดีที่สุดที่เราจะหามาได้ เตรียมพร้อมอยู่แล้วสำหรับผู้ป่วยที่จะมากขึ้นกว่าเดือนที่ผ่านมา

เราคงจะรับผู้ป่วยได้มากพอสมควร เท่าที่ศักยภาพ เตียง และแพทย์พยาบาลของเราเท่าที่มีอยู่จะทำให้ถึงที่สุด และถ้ามันเลวร้ายจนถึงขนาดต้องมีคนไข้ล้นไปอยู่ที่จอดรถหน้า ER หลายๆ รายในบางหน เราก็อาจจะจำเป็นหยุดรับ และขอเคลียร์คนไข้ขึ้นตึกให้เสร็จสัก 8 ชั่วโมง หรือ 12 ชั่วโมง ก่อนที่จะกลับมาเปิดรับอีกครั้งเมื่อเคลียร์ ER ได้เหมือนกับที่เพื่อนร่วมรบของเราในหลายโรงพยาบาลทำอยู่ เพราะจำนวนคนป่วยใหมที่มีแต่ละวันในเคสโควิดนั้น มากเกินกว่าศักยภาพของทุกโรงพยาบาลรวมกันมากกว่าสิบเท่า จริงๆ นะ

สัปดาห์หน้า ราววันพฤหัส เราจะติดตั้งเต็นท์พลาสติคความดันลบแบบเต็นท์สนาม สำหรับทำหัตถการผู้ป่วยโควิดในวอร์ดโรคไตสองเต็นท์ และในวอร์ดอายุรกรรมอีกสี่เต็นท์ โดยความช่วยเหลือจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย วันอังคารนี้ในวอร์ดสูตินรีเวชห้องคลอดที่เป็น Negative Pressure สองยูนิตของเราน่าจะเปิดใช้งานได้ สำหรับผู้คลอดวันละราว 10 ราย ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นผู้ติดเชื้อ หรือเป็น PUI เราคิดว่า เราเตรียมพร้อมแล้วนะ ที่จะทำสงครามใหญ่ในเดือนสิงหาคม

วันพรุ่งนี้ การปรับปรุงศูนย์ Home Isolation ของเราจะเสร็จสิ้น เราน่าจะมีห้องที่ใช้นัดหมายทำความเข้าใจและ Orientation ผู้ป่วยโควิดที่ยังมีอาการไม่มาก ที่จะมารับยาและเวชภัณฑ์เองได้คราวละ 20 คนในห้อง Orientation ที่เป็น Negative Pressure ตอน 11 นาฬิกาวันจันทร์พรุ่งนี้ หลังการประชุมวอร์รูมของโรงพยาบาล เรานัดประชุมแนวทางการส่งผู้ป่วยเข้า HI ของเรากับนายแพทย์ สสจ.จังหวัดปทุมธานี กับสสอ.และ ผอ.รพ.คลองหลวง, ธัญบุรี, สามโคก และลำลูกกา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ได้ส่งต่อผู้ป่วยโควิดเข้า HI ของ รพ.ธรรมศาสตร์ เป็นจำนวนมาก

ในโครงการ HI ของธรรมศาสตร์ ที่วันนี้มีผู้ป่วยสะสมเกือบแปดร้อยคนแล้ว เราสามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง และรับดูแลผู้ป่วยได้ไปจนถึงการรับผู้ป่วยกลับเข้านอนในโรงพยาบาลในกรณีที่มีอาการเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ จนถึงขณะนี้ ผู้ป่วยในโครงการ HI ของเราที่มีอาการมากขึ้นได้ถูกส่งตัวกลับมารักษาใน รพ.ธรรมศาสตร์ และใน รพ.สนามธรรมศาสตร์มากกว่า 20 คนแล้วนะ แม้ว่าในช่วงต้นเราจะไม่มีผู้ป่วยในโครงการมากนักก็ตาม ตัวเลขผู้ป่วยที่เรารับเข้ามานอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเมื่ออาการรุนแรงมากขึ้นนี่เอง ที่เป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าโครงการ Home Isolation สามารถทำงานช่วยผู้ป่วยในภาวะขาดแคลนเตียงได้อย่างมีประสิทธิภาพและโดยไม่ได้ทอดทิ้งผู้ป่วย เพราะหากมีอาการเลวร้ายลง เรารับกลับมาดูแลทุกรายจริงๆ

ที่โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ วันนี้เราหารือกันและตัดสินใจว่า เราจะเพิ่มห้องและเพิ่มเตียงสำหรับดูแลผู้ป่วยเคสสีเหลืองที่จะต้องทำ close monitorใน รพ.สนาม จากเดิมที่เคยมีอยู่ในชั้น 2 ของอาคาร DLuxx เพียง 22 เตียง ให้กลายเป็น 44 เตียงใน 44 ห้อง สำหรับดูแลผู้ป่วยที่มีอาการมากขึ้นในระดับที่ต้องใช้ออกซิเจนช่วยหายใจ เราจะต้องจัดหาเครื่องทำออกซิเจนเพิ่มขึ้นสำหรับอีก 22 ห้องในชั้นที่ 3 พร้อมกับจัดหาชุดมอนิเตอร์สัญญาณชีพของผู้ป่วยในทุกเตียงและทุกห้อง ซึ่งจะต้องเตรียมจัดหาให้เสร็จภายในกลางเดือนนี้ให้ได้เพื่อเผชิญวิกฤตรอบใหม่ที่เรารู้อยู่แล้วว่ากำลังจะมาถึง เพราะโอกาสที่จะส่งผู้ป่วยเหล่านี้กลับไปดูแลรักษาใน รพ.หลัก ก็จะมีน้อยลงด้วย

จนถึงสามทุ่มคืนนี้ ที่รพ สนาม เรารับผู้ป่วยใหม่เข้ามาดูแลได้อีก 39 คน และส่งผู้ป่วยที่รักษาหายกลับบ้านได้ 27 คน คืนนี้มีคนนอนรักษาตัวอยู่ที่นี่จำนวน 335 คน

สถานการณ์ในวันนี้ที่ศูนย์รับวัคซีนที่ยิม 4 เราให้ Astra ให้กับผู้คนที่รอคอยวัคซีนได้อีก 2,432 คน และจะให้วัคซีนไปเรื่อยๆ ทุกวันไม่มีวันหยุด ด้วยพละกำลังจากคนธรรมศาสตร์และบรรดาอาสาสมัครทั้งหลายที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ แต่เต็มใจที่จะมาช่วยเหลือพี่น้องร่วมชาติของเราที่กำลังเดือดร้อนและเป็นทุกข์ ธรรมศาสตร์เองก็ควักกระเป๋าจ่ายค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่าทำความสะอาด และค่าดำเนินการต่างๆ วันละมากกว่าหนึ่งแสนบาทในทุกวันที่มีการฉีดวัคซีน จากเงินของมหาวิทยาลัยเอง แต่เงินจำนวนนี้ไม่มีความสำคัญเลย ถ้าแลกกับภูมิต้านทานโรค ความปลอดภัยและชีวิตของผู้คนจำนวนมากที่เป็นพี่น้องร่วมแผ่นดินของเรา เรายืนยันว่าเรายินดีจะจัดการฉีดวัคซีน Astra ที่นี่ไปอีกทุกๆ วัน จนถึงสิ้นปี ถ้าหาก สธ.ยังคงมีและส่งวัคซีนมาให้เราช่วยฉีดให้

มีข่าวที่หลายคนแจ้งเรามาว่า มีนายหน้ารับจองลัดคิวฉีดวัคซีนให้โดยเรียกเก็บเงินตอบแทนคนละหลายพันบาท และมีคนจำนวนไม่น้อยที่ได้จ่ายเงินไป เราจะตรวจสอบเรื่องนี้ต่อไปโดยเร็ว ถ้าท่านใดมีข้อมูลเรื่องนี้ช่วยแจ้งกับเราในเพจ รพ.ธรรมศาสตร์ หรือบอกมาที่ ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์ด้วยนะ

เตรียมรับสถานการณ์ของเดือนสิงหาให้ดี อย่าตระหนกกับตัวเลขมากนัก ไม่ว่ามันจะสูงขึ้นเท่าใดก็ตาม ดูแลตัวเองและครอบครัวให้ดี รักษาระยะห่างและอย่าออกจากบ้านถ้าไม่จำเป็น แต่ถ้าจำเป็นจริงๆ และมีอะไรเกิดขึ้นก็มาหาพวกเราที่ธรรมศาสตร์ได้นะ เรายังพอไหวอยู่ และจะพยายามดูแลช่วยชีวิตผู้คนจนสุดกำลังความสามารถ”

  • รู้จักยาฟาวิพิราเวียร์ กับการใช้รักษา “โควิด-19” และข้อควรระวัง
  • ภาคประชาสังคม หนุน อภ. ผลิตยาฟาวิพิราเวียร์กู้วิกฤตโควิด แม้ฟูจิไม่เห็นด้วย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ