ย้อนคดีลอบสังหาร “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” ทั้งถูกยิง-วางยาพิษ รอดมาได้ สมฉายา “จอมพลกระดูกเหล็ก”

Home » ย้อนคดีลอบสังหาร “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” ทั้งถูกยิง-วางยาพิษ รอดมาได้ สมฉายา “จอมพลกระดูกเหล็ก”
ย้อนคดีลอบสังหาร “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” ทั้งถูกยิง-วางยาพิษ รอดมาได้ สมฉายา “จอมพลกระดูกเหล็ก”

เรียกได้ว่าเป็นประเด็นร้อนที่ทั่วโลกกำลังจับตามองอย่างต่อเนื่อง หลังจากเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เกิดเหตุ โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถูกลอบยิงในขณะปราศรัยหาเสียงที่เมืองบัตเลอร์ รัฐเพนซิลเวเนีย

  • เปิดคลิปช็อกโลก! ยิงกลางงานหาเสียง “ทรัมป์” บาดเจ็บที่ศีรษะ ยังพูด 3 คำก่อนลงเวที
  • หันไปดูอะไร? เผยสาเหตุที่ “ทรัมป์” ขยับศีรษะพอดี กระสุนจึงไม่เข้าเป้าถึงชีวิต
  • เปิดประวัติ “โทมัส แมทธิว ครุกส์” มือยิงทรัมป์ ที่แท้เป็นเด็กเรียนดี เกียรตินิยมอันดับ 1

หลายคนคงพอทราบว่าการลอบสังหารประธานาธิบดีในสหรัฐฯ เคยเกิดขึ้นอยู่หลายครั้ง อย่างไรก็ตามทุกคนทราบหรือไม่ว่าประเทศไทยเองก็มีผู้นำหลายคนที่โดนลอบสังหารจากผู้ไม่ประสงค์ดีอยู่หลายครั้ง

หนึ่งในนั้นคือ “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” นายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประเทศไทย หรือที่รู้จักกันในฉายา “จอมพลกระดูกเหล็ก” ซึ่งฉายานี้เองก็มาจาก การที่มีผู้ไม่หวังดี ลอบสังหารจอมพล ป. ถึง 3 ครั้ง แต่จอมพลท่านนี้สามารถรอดมาได้ในทุกครั้ง

วันนี้ Sanook จึงอยากพาทุกคนมาย้อนเหตุการณ์การลอบสังหาร“จอมพล ป. พิบูลสงคราม”ทั้ง 3 ครั้งของ รวมถึงเผยอีก 2 ผู้นำไทยที่เคยโดนลอบสังหาร

การลอบสังหารจอมพล ป. พิบูลสงคราม

สำหรับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ถูกลอบสังหารในช่วงปี พ.ศ. 2477-2481 เป็นจำนวนถึง 3 ครั้ง โดยถูกลอบยิง 2 ครั้ง และวางยาพิษอีก 1 ครั้ง

ครั้งที่ 1: 23 กุมภาพันธ์ 2477

เกิดขึ้นในวันที่มีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างทหารหน่วยต่าง ๆ ณ สนามฟุตบอลสนามหลวง ซึ่งระหว่างงานนั้นเป็นไปได้อย่างราบรื่น 

แต่หลังจากนั้น ขณะที่จอมพล ป. กำลังขึ้นรถกลับ ได้มีคนร้ายบุกเข้าประชิดตัว ใช้ปืนคอลท์รีวอลเวอร์ ขนาด 9 ม.ม ยิงในระยะเผาขน จนได้รับบาดเจ็บ และถูกนำส่งเข้าโรงพยาบาลพญาไท (ปัจจุบันคือ โรงพยาบาลระมงกุฏฯ) ทันที

ม.ร.ว. ชมสวัสดิ ชมพูนุท ได้บันทึกอาการบาดเจ็บของจอมพล ป. ว่าถูกลูกกระสุนยิงเข้า 2 นัด ที่บริเวณแก้มซ้ายด้านหน้า ทะลุออกด้านหลังคอ และอีกนัดโดนบริเวณไหล่ขวาของท่าน 

ด้านมือปืนที่ลอบสังหารในครั้งนี้ ถูกจับได้ในที่เกิดเหตุ และได้รับการดำเนินคดี ถูกพิพากษาให้ลงโทษ จำคุกเป็นเวลา 16 ปี ส่วนเหตุผลการลอบฆ่าไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าใครจ้างหรือมีเหตุผลอะไร

ครั้งที่ 2: 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงค่ำ ณ บ้านพักของจอมพล ป. ขณะที่ท่านและภริยากำลังแต่งตัวจะไปงานเลี้ยงรับรองที่กระทรวงกลาโหม แต่จู่ ๆ นายตาลี บุญตา คนขับรถ พ่วงตำแหน่งคนสวนในบ้านของท่าน ได้หยิบปืนของจอมพล ป. ที่วางไว้ในรถมาลอบยิงท่านถึง 2 นัด 

อย่างไรก็ตามโชคดีที่นายตาลี ยิงพลาดทั้ง 2 นัด จึงไม่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งสาเหตุการลอบยิงครั้งนี้ จำเลยอ้างว่าทำไปเพราะ “เมา”  และ “ไม่ได้มีเจตนา” 

ด้านผู้คนในฝ่ายหลวงพิบูลสงครามมองว่า สาเหตุการลอบยิงครั้งนี้ต้องมี “ผู้อยู่เบื้องหลัง” บ่งการเรื่องทั้งหมด แต่ก็ไม่แน่ชัดว่าคือใคร

ท้ายที่สุดศาลตัดสินให้ประหารชีวิต นายตาลี ซึ่งก็มีผู้คนเล่าต่อกันมาว่าก่อนที่จะทำการประหารชีวิต จำเลยได้มีการกล่าวเรียกร้องคำสัญญาว่าจะมีคนมาช่วยแต่หายไปไหน 

ซึ่งคดีนี้ก็จบลง โดยทิ้งไว้เป็นคำถามว่า สุดท้ายแล้วสาเหตุในการลอบฆ่าครั้งนี้คืออะไรกันแน่ 

ครั้งที่ 3:  9 ธ.ค. 2581 

เกิดขึ้นห่างจากครั้งที่แล้วเพียงหนึ่งเดือน ซึ่งในครั้งนี้ผู้ก่อเหตุก็ยังเป็น “คนในบ้าน” เช่นเดิม

โดยรายงานกล่าวว่า จอมพล ป. ถูกแม่ครัวในบ้านลอบวางยาพิษ(สารหนู)ในอาหารกลางวัน โชคดีที่นำส่งโรงพยาบาลและล้างท้องทัน จึงรอดมาได้ 

สำหรับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ถึงแก่อสัญกรรมด้วยวัย 66 ปี จากโรคหัวใจวาย โดยเสียชีวิตที่ประเทศญี่ปุ่น ขณะลี้ภัยทางการเมือง

อดีตนายกรัฐมนตรีไทยถูกลอบสังหาร

นอกจากจอมพล ป. พิบูลสงครามแล้ว ยังมีอดีตนายกรัฐมนตรีไทย อีกหลายท่านที่เคยเจอเหตุการณ์การลอบสังหาร ตัวอย่างเช่น

พลเอกเปรม ติณสูลานนท์

สำนักข่าว INN News รายงานว่า นายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของประเทศไทย เคยถูกลอบสังหารในปีเดียวกันถึง 3 ครั้ง

  • 16 ก.ค. 2525: คนร้ายยิงระเบิด M72 ใส่รถขบวนของ พล.อ. เปรม ขณะเดินทางไปเปิดอนุสาวรีย์ที่ศูนย์การปืนใหญ่ จ.ลพบุรี แต่พลาดเป้า ภายหลังผู้ก่อเหตุกระทำอัตวินิบาต (ฆ่าตัวตาย) ขณะถูกตำรวจจับกุม
  • 15 ส.ค. 2525: คนร้ายขว้างระเบิด M26 เข้าบ้านของพล.อ.เปรม โชคดีที่วันนั้นไม่มีใครอยู่ในบ้าน
  • 9 ก.ย. 2525: คนร้ายวางระเบิดใกล้ห้องทำงานรัฐมนตรีกลาโหม 

ทักษิณ ชินวัตร

สำนักข่าว INN News รายงานว่า ทักษิณ ชินวัตร เคยถูกปองร้ายและลอบสังหารถึง 4 ครั้ง

  • 3 มี.ค. 2544: ก่อนที่พ.ต.ท.ทักษิณ จะเดินทางไปเชียงใหม่ ได้เกิดเหตุเครื่องบินไฟไหม้ เสียหายทั้งลำ ต่อมาพบว่าเกิดจากการ “วางระเบิด” อย่างไรก็ตามภายหลังมีการออกมาชี้แจ้งว่าสาเหตุของไฟไหม้ เกิดจากอุปกรณ์ทำความเย็นระเบิด
  • ปี 2546: กลุ่มว้าแดง ราชายาเสพติดตั้งค่าหัว พ.ต.ท.ทักษิณ ไว้ 80 ล้านบาท เนื่องจากไม่พอใจนโยบายปราบปรามยาเสพติด
  • 24 ส.ค.2549: พบรถที่มีระเบิดทีเอ็นทีและซีโฟร์อยู่ท้ายรถ ซึ่งจอดอยู่บริเวณใกล้บ้านพักของพ.ต.ท.ทักษิณ โชคดีที่รปภ.สังเกตเห็น และจับตัวเจ้าของรถได้
  • ช่วงรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช: เป็นช่วงที่พ.ต.ท.ทักษิณหวนกลับประเทศไทย แต่มีการอ้างถึง “สไนเปอร์” และมีข่าวการลอบยิง จึงต้องเดินทางออกนอกประเทศ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ