ยายกล้วยปิ้งเปิดใจ จากขายไม่ดี-รอลูกค้า 12 ช.ม. ไร้เงินเช่าบ้าน ได้พลังโซเชียลช่วย

Home » ยายกล้วยปิ้งเปิดใจ จากขายไม่ดี-รอลูกค้า 12 ช.ม. ไร้เงินเช่าบ้าน ได้พลังโซเชียลช่วย


ยายกล้วยปิ้งเปิดใจ จากขายไม่ดี-รอลูกค้า 12 ช.ม. ไร้เงินเช่าบ้าน ได้พลังโซเชียลช่วย

ยายกล้วยปิ้งเปิดใจน้ำตาซึม จากขายไม่ดี-ยืนรอลูกค้า 12 ช.ม. ได้พลังโซเชียลช่วย เล่าชีวิตขายมา 25 ปี ช่วงโควิดลำบากสุด ยอดขายตกไร้เงินค่าเช่าบ้าน รักษาตัว

วันที่ 3 ส.ค.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โลกออนไลน์เผยแพร่เรื่องราวของคุณยายบรรจง แฉล้มฉัตร วัย 70 ปี ยืนปิ้งกล้วยอยู่บนเตาถ่าน อยู่บริเวณปากซอยเข้าบ้านพ่อเลี้ยงหมื่น หรือซอย 6 ถนนราชมรรคา ใกล้ร้านแว่นท็อปเจริญ ก่อนถึงตลาดประตูเชียงใหม่ แต่เวลาล่วงเลยมาถึง 4 ทุ่ม กล้วยปิ้งยังเหลืออยู่จำนวนมาก เมื่อถามยายบรรจงได้รับคำตอบว่าขายไม่ค่อยดี จึงต้องยืดระยะเวลาขายออกไป บางวันยายต้องขายจนถึง 5 ทุ่มกว่ากล้วยปิ้งจะหมด หรือหากไม่หมดต้องเก็บใส่ถุง เพื่อขายในวันถัดไป

หลังโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ไปในโลกโซเชียล มีผู้คนเข้ามาแสดงความคิดเห็นและกดแชร์โพสต์ เพื่อช่วยกระจายข่าวให้ผู้คนในโซเชียลช่วยไปอุดหนุนคุณยายกันมากๆ ซึ่งรสชาติกล้วยปิ้งทับของยายไม่เป็นสองรองใคร โดยเฉพาะที่เด็ด คือน้ำกระทิ ที่เข้มข้น หอมหวาน

ต่อมาผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ติดตามเรื่องราวของคุณยายสู้ชีวิตรายนี้ทราบว่า ยายบรรจง ยังออกมาขายกล้วยปิ้งตามปกติ แต่วันนี้โชคร้าย เพราะยายได้กล้วยน้ำว้าสุกงอมมา จึงต้องใช้เวลาปิ้งนานเกือบชั่วโมง ทำให้ลูกค้าที่มาอุดหนุนยายหลายคนผิดหวัง ขณะที่บางคนบอกว่าเดินทางมาไกล เพื่อมาอุดหนุน จึงขอซื้อ แต่ยายบรรจงตอบปฏิเสธ เพราะไม่อยากขายกล้วยที่ยังปิ้งไม่สุกให้ลูกค้าไปทาน เพราะรสชาติไม่อร่อย

ยายบรรจง เล่าว่า ขายกล้วยปิ้งที่นี่มานานกว่า 25 ปีแล้ว ก่อนหน้านี้จะเริ่มเปิดร้านขายตั้งแต่ 7 โมงเช้าจนถึงช่วงค่ำ แต่พออายุมากขึ้น สุขภาพไม่เอื้ออำนวย จึงเลื่อนเวลาออกมาขายประมาณ 11 โมงหรือเที่ยงวัน และจะขายจนกว่าของจะหมดประมาณ 2-3 ทุ่ม แต่ตอนนี้ต้องยืดเวลาขายไปถึง 4-5 ทุ่ม เพราะขายไม่ค่อยดี จากเดิมก่อนโควิด-19 ระบาดขายกล้วยปิ้งหมดแทบทุกวัน แต่หลังโควิด-19 แพร่ระบาดเกือบ 2 ปีเศษ ได้รับผลกระทบมาก และยังกระทบยาวมาจนถึงปัจจุบันด้วย

ยายบรรจง เล่าว่า เดิมเป็นชาวสุโขทัย หลังสามีเสียชีวิตจึงอยู่ตัวคนเดียวมาตลอด ทุกวันนี้มีภาระต้องจ่ายค่าเช่าบ้านเดือนละ 2,500 บาท ยังไม่รวมค่าน้ำค่าไฟ และต้องมีเงินทุนหมุนเวียนไปซื้อวัตถุดิบมาขายของต่อ ทั้งกล้วยน้ำว้า มะพร้าว น้ำตาลทราย ซึ่งตอนนี้ต้นทุนวัตถุดิบต่างๆ สูงขึ้นมาก โดยเฉพาะมะพร้าวที่ปรับราคามาเรื่อยๆ จนปัจจุบันราคาสูงกว่ากิโลกรัมละ 85 บาทแล้ว แต่ละวันยายต้องมีเงินไปซื้อวัตถุดิบไม่ต่ำกว่า 700 – 800 บาท เมื่อขายของไม่ดี ยายถึงกับต้องนั่งร้องไห้แทบทุกคืน เพราะทุกเดือนต้องไปขอผัดผ่อนจ่ายค่าเช่าบ้าน รวมทั้งต้องหาทุนไปซื้อของมาให้ได้ เพื่อจะได้มีเงินไว้ประทังชีวิต และบางส่วนก็เก็บไว้ไปหาหมอ

ยายบรรจง บอกว่า หลังมีคนนำเรื่องราวของตนเองไปโพสต์ในโซเชียล ยายไม่รู้จักว่าคืออะไร แต่ทำให้มีลูกค้ามาอุดหนุนยายมากขึ้น จนมียอดขายเพิ่มขึ้นวันละประมาณ 800-1,000 บาท ทำให้ยายมีทุนไปต่อยอดซื้อของมาขายต่อวันละ 700-800 บาท ส่วนที่เหลือก็เก็บไว้จ่ายค่าเช่าบ้าน และค่ากินรายวัน รวมทั้งเก็บเงินไว้ไปหาหมอเวลาไม่สบาย ซึ่งตอนนี้สุขภาพยายก็เริ่มทรุดโทรมตามอายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะอาการปวดหลังที่เกิดจากกระดูกสันหลังคดงอ จากการที่ต้องทำงานหนักและยืนเป็นเวลานานๆวันละกว่า 10 ชั่วโมง ต้องตื่นเช้าไปซื้อของที่ตลาด และต้องยกเตาที่มีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 40 – 50 กิโลกรัมด้วยตัวเอง จึงมีบางวันที่ยายป่วยจนต้องหยุดขาย แต่ถ้ายังไหวยายก็จะฝืนออกมาขายของเพราะไม่อยากขาดรายได้

สำหรับสูตรกล้วยปิ้งราดน้ำกระทิที่ทำขายอยู่ทุกวัน ยายบรรจง บอกว่า ทำเองทุกขั้นตอนตั้งแต่สมัยสาวๆ จนได้สูตรที่ลงตัว เคล็ดลับเด็ดของยายคือ ใช้กล้วยน้ำว้าแบบห่ามๆ ไม่สุกมาก น้ำมาปิ้งบนเตาถ่านที่ไฟไม่แรงมาก เพราะจะทำให้กล้วยไหม้ ส่วนกล้วยปิ้งทับยายขายเพียงไม่ละ 10 บาทเท่านั้น

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ