ม็อบปิดถนน 2 เลน แยกราชประสงค์ ปราศรัยเดือดโจมตี ส.ว. วิจารณ์เพื่อไทย พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล อ่านแถลงการณ์ วอนอย่าหงอ ส.ว.-พรรคเสียงข้างน้อย
ที่แยกราชประสงค์ ภาคีเครือข่ายภาคประชาชน นำโดยกลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย จัดกิจกรรม “ส.ว.เห็นหัวกูบ้าง” โดยภายในกิจกรรมดังกล่าว มีการพ่นสีแดงบนถนนว่า “ส.ว. หัวค…” และมีการสลับสับเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัย โจมตีการทำหน้าที่ของ ส.ว. ที่ไม่โหวตนายกฯ ตามฉันทามติของประชาชน บางช่วง
ยังวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของพรรคเพื่อไทย แกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลในปัจจุบัน ที่ได้รับมอบหมายจาก 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ให้ไปรวมเสียงเพิ่มเติมจาก ส.ส. และ ส.ว. จากกระแสข่าวและการคาดเดาว่าจะมีการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองหรือไม่ โดยมีประชาชนเข้าร่วมรับฟังการปราศรัยนับร้อยคน มีการนำป้ายข้อความต่างๆ มาแสดงออก
ช่วงหนึ่ง คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ซึ่งร่วมปราศรัย ได้อ่านแถลงการณ์ถึง “พรรคเพื่อไทย” ขอให้ยึดมั่นฉันทามติประชาชนจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคให้สำเร็จ แม้จะมีความพยายามในการสร้างเงื่อนไขโดยพรรคการเมืองเสียงข้างน้อย รวมถึง ส.ว.ที่ฝักใฝ่เผด็จการ โดยระบุว่า
จดหมายเปิดผนึก ถึงพรรคเพื่อไทย โดย คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) เรื่อง ขอให้ยึดมั่นฉันทามติของประชาชน จัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคให้สำเร็จ
ปรากฏการณ์หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 คือการแสดงออกซึ่งฉันทามติของประชาชน ที่มีเจตนาให้พรรคการเมืองที่ยึดมั่นต่อแนวทางการปกปครองในระบอบประชาธิไปไตย เพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้า และหลุดพ้นจากยุคอำนาจนิยมภายใต้คราบเงาของเผด็จการทหาร
หลังจากนั้นได้มีการจับมือกันของ 8 พรรคการเมือง ภายใต้การนำของพรรคก้าวไกล และมีการเสนอชื่อของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี อันเป็นไปตามครรลองของกระบวนการตามระบบประชาธิปไตย แต่ก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะการขัดขวางของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งพวกเราต่างรู้กันดีว่าเป็นกลไกสืบทอดอำนาจที่รัฐบาลประยุทธ์จัดวางไว้
เวลานี้ พรรคก้าวไกลได้มอบหมายภารกิจการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ให้กับพรรคเพื่อไทย จึงยังถือเป็นความชอบธรรมที่สามารถกระทำได้ แม้จะมีเงื่อนไขจากพรรคการเมืองบางพรรคและจากสมาชิกวุฒิสภากลุ่มเดิม ที่อ้างว่าหากยังมีพรรคก้าวไกลแล้ว ก็จะไม่สนับสนุนให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ไม่เห็นด้วยกับท่าทีดังกล่าวของพรรคการเมืองและวุฒิสมาชิกเหล่านั้น เพราะยิ่งจะเป็นการฉุดรั้งไม่ให้มีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศได้อย่างที่ควรจะเป็น เราจึงมีข้อเรียกร้องดังนี้
พรรคการเมืองและสมาชิกวุฒิสภา จะต้องหยุดสร้างเงื่อนไขและเบี่ยงเจตนาการเสนอนโยบายเรื่องการแก้ไขประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 112 ว่าเป็นแนวคิดที่ต้องการล้มล้างสถาบันพระมหกษัตริย์ เพราะเป็นที่ทราบกันดีกว่า นั่นเป็นเพียงข้อเสนอที่ต้องการใช้รัฐสภาเพื่อหาทางออกให้กับประเทศ และเป็นการรักษาไว้ซึ่งพระราชอำนาจและพระเกียรติของพระบรมวงศานุวงศ์ให้คงอยู่กับการเมืองไทยได้อย่างสง่างาม และไม่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ที่พวกท่านทั้งหลายกำลังใช้กันอยู่ในเวลานี้
ขอให้พรรคเพื่อไทย ยืนหยัดการจัดตั้งรัฐบาลร่วมทั้ง 8 พรรคเดิม ตามที่ได้ทำข้อตกลงกันไว้ และอย่าหวั่นไหวต่อแรงกดดันใดๆ ในขณะนี้ ซึ่งเราเชื่อว่าหนทางนี้เท่านั้นที่จะนำพาประเทศนี้ไปสู่ทางออกที่ดีกว่าได้