มากกว่าแค่เสียงลูกบอล? : นักฟุตบอลตาบอด ทราบได้อย่างไรว่าต้องเคลื่อนที่ไปทิศทางไหน

Home » มากกว่าแค่เสียงลูกบอล? : นักฟุตบอลตาบอด ทราบได้อย่างไรว่าต้องเคลื่อนที่ไปทิศทางไหน
มากกว่าแค่เสียงลูกบอล? : นักฟุตบอลตาบอด ทราบได้อย่างไรว่าต้องเคลื่อนที่ไปทิศทางไหน

นักฟุตบอลตาบอดทีมชาติไทย สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเอาชนะทีมชาติฝรั่งเศส 3-2 ในรอบจัดอันดับของพาราลิมปิก 2020 ที่โตเกียว พร้อมจบอันดับ 7 ในการแข่งขันพาราลิมปิกครั้งแรกของพวกเขา

แน่นอนว่าด้วยความที่เป็นฟุตบอลของผู้พิการทางสายตา ทำให้นอกเหนือจากผู้รักษาประตูแล้ว นักเตะชุดนี้ทุกคน จะไม่มีใครมองเห็นได้เลย และเมื่อลงทำการแข่งขันก็จะถูกปิดตาแบบทึบ จนไม่อาจแม้แต่จะรับรู้ถึงความสว่างในสิ่งแวดล้อมรอบข้างได้ 

ในเมื่อพวกเขามองไม่เห็น แล้วผู้เล่นเหล่านี้รู้ได้อย่างไรว่าต้องวิ่งหรือยิงไปในทิศทางไหน และหลบหลีกการปะทะได้อย่างไร ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand

โลกที่มืดบอด

ลองหลับตาลงสัก 1 นาที จากนั้นให้ลองพยายามเดินคลำทางในความมืดมิด คุณจะได้พบกับความยากลำบาก ทั้งการพยายามหลบหลีกอุปสรรครอบตัว หรือควานหาทิศทางไปสู่เป้าหมาย

นั่นเพราะเกือบตลอดทั้งชีวิตของคุณที่กำลังอ่านบทความนี้ ต่างมีดวงตาเป็นหนึ่งในประสาทสัมผัสทั้งห้า ที่คอยช่วยให้เรามองเห็น และรับรู้ความเป็นไปของสิ่งต่าง ๆ รอบตัวระหว่างที่เรากำลังลืมตาอยู่

แต่สำหรับผู้คนบางกลุ่ม ที่พวกเขาต้องเผชิญกับอาการตาบอดโดยกำเนิดเนื่องจากพันธุกรรม หรือสูญเสียการมองเห็นไปจากอุบัติเหตุ โลกของเขานั้นจะแตกต่างจากเราไปอย่างสิ้นเชิง

 

“เสียง” จึงเป็นดั่งดวงตานำทางของพวกเขา เพราะแม้ว่าคนตาบอดบางส่วนยังคงรับรู้ความสว่างของสิ่งแวดล้อมโดยรอบได้ แต่เมื่อสายตาไม่อาจมองเห็นรายละเอียดใด ๆ ได้ จึงทำให้พวกเขาต้องพึ่งพาประสาทสัมผัสที่เหลืออยู่แทน

นั่นจึงเป็นที่มาของทฤษฎีที่ระบุว่า คนตาบอดสามารถฟังได้ดีกว่าคนหูดี ซึ่งมีมูลความจริงอยู่ไม่น้อย เพราะพวกเขาจำเป็นต้องได้ยินรายละเอียดของเสียงที่มากกว่าเรา ไม่ว่าจะเป็นเสียงก้าวเดินของฝีเท้า หรือเสียงของรถบนท้องถนน เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกชน ซึ่งคนที่มองเห็นได้ตามปกติ ก็เพียงใช้สายตามองและกะระยะแทนได้ โดยไม่จำเป็นต้องใส่ใจในเสียงที่ตัวเองได้ยิน

มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมอนทรีออล เมื่อปี 2012 ที่พบว่าเปลือกสมองส่วนการเห็น หรือ Visual Cortex ของคนตาบอด ได้ถูกปรับเปลี่ยนการใช้งาน เพื่อนำไปเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผลจากการได้ยินและสัมผัส อันนำไปสู่การทำ “Echolocation” ที่คนตาบอดเหล่านี้ ใช้การสะท้อนของเสียงกระดกลิ้นหรือเสียงดีดนิ้ว เพื่อระบุตำแหน่งของวัตถุที่อยู่รอบตัว แบบเดียวกับการใช้เรดาร์และปล่อยโซนาร์ของสัตว์อย่างค้างคาวหรือโลมา

คนตาบอดจำนวนมากใช้เทคนิคดังกล่าวได้ในชีวิตประจำวัน โดยที่ตัวเองไม่รู้ตัวถึงความสามารถพิเศษดังกล่าว และในบางราย พวกเขาเชี่ยวชาญการทำ “Echolocation” ระดับที่สามารถระบุระยะห่าง ขนาด ลักษณะ ไปจนถึงความหนาแน่นของวัตถุนั้น ๆ ได้ เพียงแค่การกระดกลิ้นไม่กี่ครั้งเท่านั้นเอง

 

ซึ่งนี่คือปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้สนามฟุตบอลคนตาบอดมีรูปแบบอย่างที่เราเห็น และสิ่งนี้ช่วยให้บรรดานักเตะ สามารถหาตำแหน่งของลูกฟุตบอล เพื่อนร่วมทีม ไปจนถึงตำแหน่งของประตูได้เลย

เสียงของฟุตบอล

ส่วนมากแล้ว ฟุตบอลเป็นกีฬาที่มีเสียงเชียร์เป็นองค์ประกอบสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสนามที่มีความจุระดับหลักหมื่นคน หรือสนามท้องถิ่นที่ต้องยืนมุงกันดู

แต่สำหรับฟุตบอลของคนตาบอด ผู้ชมในสนามจะต้องไม่ส่งเสียงระหว่างที่นักเตะกำลังเล่นอยู่ หรือคือสามารถฉลองได้แค่ในช่วงที่บอลตาย ทำประตูได้ หรือช่วงพักครึ่งกับจบเกมแล้วเท่านั้น เพื่อไม่ให้ไปรบกวนการได้ยินของนักฟุตบอลในสนาม

 

ด้วยผู้เล่นเพียง 5 คน จากจำนวน 11 ของในฟุตบอลปกติ กฎของฟุตบอลสำหรับคนตาบอดนั้น มีข้อแตกต่างจากฟุตบอลสนามใหญ่อยู่พอสมควร เช่น

เตะ 2 ครึ่ง ครึ่งละ 25 นาที โดยหยุดเวลาทุกครั้งที่บอลตาย
สนามกว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร มีบอร์ดข้างสนามช่วยกั้นไม่ให้บอลออก ไม่มีทุ่ม ไม่มีล้ำหน้า
ผู้รักษาประตูห้ามออกนอกเขตประตูที่ยาว 5.82 เมตร กว้าง 2 เมตร (แต่เป็นบุคคลปกติได้ ไม่จำเป็นต้องพิการด้านใด ๆ เลย)

ขนาดประตูใหญ่เท่าประตูของกีฬาฮอกกี้ (3.66 x 2.14 เมตร)

นับตั้งแต่ที่ถูกบรรจุเข้าไว้ในการแข่งขันพาราลิมปิก ตั้งแต่ปี 2004 นักกีฬาที่เข้าร่วมจะต้องมีความพิการประเภท B1 คือสูญเสียการมองเห็นไปทั้งหมด และจะถูกปิดตาทับเข้าไปอีกชั้นในระหว่างที่ลงแข่งขัน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน ว่าจะไม่มีใครรับรู้แม้แต่ความมืดหรือความสว่างโดยรอบได้เลย

ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องนำมาใช้ช่วยให้นักเตะเหล่านี้รับรู้ทิศทางของลูกบอลได้ คือการเพิ่มลูกกระดิ่งขนาดเล็กจำนวน 60 ลูก ติดตั้งกระจายไว้ 6 จุดรอบลูกฟุตบอล เพื่อให้เกิดเสียงระหว่างที่มันกำลังกลิ้งอยู่บนพื้นสนาม ที่ทำให้ผู้เล่นสามารถได้ยินพร้อมกับคำนวณระยะห่างจากลูกได้

 

นอกจากเสียงของลูกบอลแล้ว ตัวบอร์ดข้างสนามก็ไม่ได้เป็นเพียงป้ายโฆษณาหรือป้ายระบุชื่อรายการแข่งขันเพียงอย่างเดียว เพราะมันยังเป็นสิ่งที่ช่วยสะท้อนเสียงกลับมาสู่ตัวของผู้เล่นในสนาม เพื่อใช้ในการคำนวณระยะห่างของตนจากริมขอบสนาม หรือจากผู้เล่นคนอื่น ๆ ด้วยเทคนิค “Sonification” ผ่านการกระดกลิ้นหรือดีดนิ้วได้อีกด้วย

ตัวบอร์ดจะมีความสูง 1 เมตรจากพื้น และถูกตั้งให้เอียงทำมุม 10 องศา เพื่อให้สะท้อนเสียงเข้าสู่หูของตัวนักกีฬาได้อย่างเหมาะสม พร้อมกับเอาไว้กันไม่ให้ลูกฟุตบอลหลุดออกจากเขตการเล่นของสนามในเวลาเดียวกัน

แต่นอกจากเสียงของลูกบอลและการใช้เทคนิคสะท้อนเสียงแล้ว การสื่อสารภายในทีมก็ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่ โดยนอกจากภาษาท้องถิ่นของผู้เล่นแต่ละทีมแล้ว ยังมีศัพท์บังคับอย่างคำว่า “Voy” ที่ผู้เล่นเกมรับต้องตะโกนออกมาก่อนจะเข้าสกัดบอล ซึ่งมาจากภาษาสเปนที่แปลได้ใจความว่าจะเข้าเล่นบอลแล้ว เพื่อให้นักเตะที่กำลังเปิดเกมบุกสามารถทราบระยะห่างระหว่างกัน และป้องกันอาการบาดเจ็บรุนแรงได้

นอกเหนือจากรายละเอียดในสนามแล้ว นักฟุตบอลคนตาบอดยังได้รับความช่วยเหลือจากดวงตาอีก 3 คู่ เพื่อคอยป้อนข้อมูลให้ท่ามกลางความมืดมิดระหว่างการแข่งขัน

 

เฌเรมี่ ซูฟิสซอว์ (Jérémy Sufisseau) ผู้รักษาประตูของนักฟุตบอลทีมชาติฝรั่งเศส ชุดที่ได้ลงแข่งขันกับทีมชาติไทยเมื่อพาราลิมปิก 2020 เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “เราแบ่งโซนของสนามแข่งขันออกเป็นสามส่วน : แนวรับ มิดฟิลด์ และแนวรุก แนวรับจะเป็นความรับผิดชอบของผู้รักษาประตูที่จะต้องคอยออกคำสั่ง ส่วนของมิดฟิลด์โค้ชจะเป็นคนคอยสั่งการหลัก และเมื่อเข้าสู่พื้นที่แนวรุก ไกด์หลังประตู หรือโค้ชเกมรุกที่ยืนอยู่หลังประตูฝั่งตรงข้าม จะให้ข้อมูลที่จำเป็นต่อการออกวิ่ง หรือหาตำแหน่งใส่สกอร์”

ทีนี้เมื่อมีจังหวะได้ลูกโทษ โค้ชที่หลังประตูสามารถใช้ไม้เหล็กเคาะไปที่เสาประตูทั้งสองฝั่ง เพื่อเป็นการระบุตำแหน่งการเล็งให้กับนักเตะ โดยเป็นการรับคลื่นเสียงที่เดินทางมาสัมผัสยังแก้วหู และประเมินทิศทางการยิงออกไปได้

แต่เหนือสิ่งอื่นใดนั้น คือการฝึกซ้อมอย่างหนักเพื่อที่นักฟุตบอลตาบอดเหล่านี้ จะสามารถทรงตัว ออกตัววิ่ง และทราบทิศทางของตนเองได้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะในโลกลูกหนังอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถคว้าชัยชนะอย่างที่ต้องการมาได้

ลองนึกภาพดูว่า หากคุณโดนจับปิดตาแบบมืดสนิท แล้วไปยืนอยู่กลางสนามฟุตบอลของคนตาบอด แค่การควานหาตำแหน่งของลูกบอลก็คงเป็นเรื่องที่ท้าทายมากพอแล้ว โดยไม่ต้องไปคำนึงถึงปัจจัยที่คุณจะต้องเลี้ยงหลบผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามอีก 4 คน เพื่อเข้าไปยิงให้ผ่านผู้รักษาประตูสายตาดีเลยด้วยซ้ำ

แน่นอนว่ามันคงยาก ที่จะมีจังหวะลากเลื้อยพริ้ว ๆ สวย ๆ หรือลูกยิงอันตราตรึงใจได้ดั่งฟุตบอลลีกอาชีพของคนตาปกติ แต่สิ่งที่คุณจะเห็นได้จากฟุตบอลคนตาบอดนี้ คือหัวใจที่แข็งแกร่งและความมุ่งมั่นของผู้ไม่ยอมแพ้ให้กับความบกพร่องทางร่างกาย ที่คอยนำทางให้ในทุกวินาทีบนผืนสนามแห่งความเงียบสงัดแห่งนี้

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ