มะเร็งคร่าชีวิต "สมโพธิ แสงเดือนฉาย" ผู้กำกับหนังดังในตำนาน ด้วยวัย 80 ปี

Home » มะเร็งคร่าชีวิต "สมโพธิ แสงเดือนฉาย" ผู้กำกับหนังดังในตำนาน ด้วยวัย 80 ปี
มะเร็งคร่าชีวิต "สมโพธิ แสงเดือนฉาย" ผู้กำกับหนังดังในตำนาน ด้วยวัย 80 ปี

สมโพธิ แสงเดือนฉาย ผู้กำกับชื่อดัง ผู้สร้างหนังในตำนาน หนุมานพบ 7 ยอดมนุษย์-ยักษ์วัดแจ้งพบจัมโบ้เอ เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง ด้วยวัย 80 ปี

วานนี้ (26 ส.ค.) เฟซบุ๊กแฟนเพจ หอภาพยนตร์ Thai Film Archive ได้โพสต์ภาพและข้อความแสดงความไว้อาลัย สมโพธิ แสงเดือนฉาย ผู้กำกับภาพยนตร์ไทย เจ้าของฉายาเจ้าพ่อแห่งสเปเชียลเอฟเฟ็กต์เมืองไทย ได้เสียชีวิตลงแล้วเมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 25 ส.ค. จากโรคมะเร็ง ด้วยวัย 80 ปี

โดย เฟซบุ๊กแฟนเพจ หอภาพยนตร์ Thai Film Archive ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความ ระบุว่า “หอภาพยนตร์ขอร่วมไว้อาลัยต่อการจากไปของ สมโพธิ แสงเดือนฉาย ผู้สร้างผู้กำกับภาพยนตร์ไทยคนสำคัญ เจ้าของฉายา “เจ้าพ่อแห่งสเปเชียลเอฟเฟ็กต์เมืองไทย”

สมโพธิ เริ่มเกี่ยวข้องกับวงการภาพยนตร์อย่างจริงจัง เมื่อ พ.ศ. 2505 โดยขณะทำงานอยู่ในฝ่ายภาพยนตร์โฆษณาของธนาคารออมสิน สมโพธิ ในวัย 20 ปี ได้รับทุนจากต้นสังกัดให้ไปฝึกงานที่โรงถ่ายโตโฮ โรงถ่ายภาพยนตร์ชื่อดังของญี่ปุ่น และได้ทำงานร่วมกับบุคคลสำคัญทั้ง อากิระ คุโรซาว่า ฮิโรชิ อินางากิ โตชิโร่ มิฟูเน่ และที่สำคัญคือ เอจิ ซึบูราญ่า หัวหน้าแผนกเทคนิค พิเศษของโรงถ่าย ผู้ให้กำเนิดก๊อดซิลล่า ทำให้สมโพธิได้มีโอกาสเรียนรู้เทคนิคพิเศษต่าง ๆ มากมาย และเกิดความเคารพนับถือเอจิ ซึบูราญ่า เป็นอาจารย์คนสำคัญของชีวิต

ปี พ.ศ. 2506 เอจิ ซึบูราญ่า ได้ก่อตั้งบริษัทของตนเอง และต่อมาก็ได้เริ่มโครงการสร้าง อุลตร้าแมน โดยทีมงานได้ส่งแบบร่างลักษณะของ อุลตร้าแมนมาให้เลือกมากมาย หนึ่งในนั้นเป็นแบบที่พัฒนามาจากรูปพระอัฏฐารส พระพุทธรูปปางเปิดโลก แห่งวัดมหาธาตุ ที่สมโพธินำมาให้ดู ซึ่งสุดท้าย แล้วได้กลายมาเป็นต้นแบบจริง ๆ ของ อุลตร้าแมน ออกแบบโดย โทรุ นาริตะ ผู้กำกับศิลป์ของโรงถ่ายโตโฮ

เมื่อกลับมาจากญี่ปุ่น สมโพธิได้ก่อตั้งบริษัท ไชโยภาพยนตร์ และเริ่มสร้างภาพยนตร์ในแนวทางที่เขาได้เรียนรู้มาจากญี่ปุ่น เรื่องแรกคือ ท่าเตียน ในพ.ศ. 2516 จากนั้นเขาได้ลงทุนให้ซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ ผลิตภาพยนตร์ 2 เรื่องคือ ยักษ์วัดแจ้งพบจัมโบ้เอ (2517) และ หนุมานพบ 7 ยอดมนุษย์ (2517) ซึ่งเรื่องหลังประสบความสำเร็จด้านรายได้อย่างมากทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ โดยหอภาพยนตร์ เมื่อ พ.ศ.2555

ผลงานการสร้างภาพยนตร์เรื่องต่อๆ มาของสมโพธิ ยังคงเน้นจุดเด่นในด้านเทคนิคพิเศษ และส่วนมากได้นำมาผสมผสานกับวรรณคดีไทย เช่น กากี (2523) ไกรทอง (2523) พระรถเมรี (2524) ขุนช้างขุนแผน ตอนปราบจระเข้เถนขวาด (2525) ศึกกุมภกรรณ (2527) เป็นต้น

สมโพธิ แสงเดือนฉาย เสียชีวิตกลางดึกที่ผ่านมา ในวัย 80 ปี หอภาพยนตร์ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของคุณสมโพธิ และร่วมรำลึกถึงนักสร้างภาพยนตร์ผู้เปี่ยมไปด้วยจินตนาการและความฝันอันยิ่งใหญ่ มา ณ ที่นี้”

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ