ม.เคมบริดจ์เตรียมโชว์ฟอสซิล “กิ้งกือยักษ์” ใหญ่สุด อายุ 326 ล้านปี-ยาว 2.7 เมตร
ม.เคมบริดจ์เตรียมโชว์ฟอสซิล – วันที่ 21 ธ.ค. การ์เดียน รายงานการค้นพบซากฟอสซิล “กิ้งกือยักษ์” ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยพบ กับความยาวเทียบเท่ารถยนต์ 1 คัน สันนิษฐานว่ามีน้ำหนักมากถึง 50 กิโลกรัม และจะนำไปจัดแสดงต่อสาธารณชนที่พิพิธภัณฑ์ธรณีศาสตร์เซดก์วิก มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ช่วงปีใหม่ที่จะถึงนี้
รายงานระบุว่า ฟอสซิลกิ้งกือยักษ์ที่เรียกว่า “อาร์โธรเพลอร่า” (Arthropleura) สัตว์ขาปล้องดึกดำบรรพ์ในตระกูลเดียวกับกิ้งกือ มีชีวิตในยุคคาร์บอนิเฟอรัส และสูญพันธุ์เมื่อ 340 ล้านปีก่อน
ถูกพบโดยบังเอิญบริเวณชายหาดเขตโฮวิค มณฑลนอร์ทัมเบอร์แลนด์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอังกฤษ มีอายุราว 326 ล้านปี และส่วนฟอสซิลโครงกระดูกภายนอก (exoskeleton) ที่พบมีความยาวราว 75 เซนติเมตร ซึ่งทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการสำรวจประเมินว่าความยาวของอาร์โธรเพลอร่าตัวนี้ประมาณ 2.7 เมตร
ดร.นีล เดวีส์ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ เปิดเผยว่าค้นพบโดยบังเอิญระหว่างเดินเล่นแถวชายหาดในมณฑลนอร์ทัมเบอร์แลนด์ เมื่อเดือนม.ค.2561
หลังจากหินทรายขนาดใหญ่ร่วงหล่นจากหน้าผาและแตกออกจนเห็นฟอสซิลที่อยู่ข้างในพอดี ต่อมาหน่วยงานดูแลด้านสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติอนุญาตให้เคลื่อนย้ายและนำฟอสซิลดังกล่าวไปตรวจสอบเพิ่มเติมที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
“ในขณะที่เราไม่รู้แน่ชัดว่าอาร์โธรเพลอร่ากินอะไร แต่ในช่วงเวลานั้นมีถั่วและเมล็ดพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการมาก พวกมันอาจเป็นสัตว์นักล่าที่กินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังชนิดอื่น หรือแม้แต่สัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กจำพวกสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ” ดร.เดวีส์กล่าว
และว่าอาร์โธรเพลอร่ามีชีวิตในแถบบริเวณเส้นศูนย์สูตรประมาณ 45 ล้านปีก่อนสูญพันธุ์ อาจเป็นเพราะภาวะโลกร้อนที่ทำให้สภาพอากาศแห้งเกินไปสำหรับอาร์โธรเพลอร่าหรืออาจมีการเพิ่มขึ้นของสัตว์เลื้อยคลานที่แย่งแหล่งอาหารของพวกมัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ฟอสซิลเผยความรัก แม่แมงมุมพยายามป้องลูก ในอำพันพม่า 99 ล้านปี
- อียิปต์พบฟอสซิล “อะนูบิส” ต้นตระกูลวาฬ 4 ขา ออกล่าเหมือนสุนัขแต่สะเทินบกสะเทินน้ำ
- จีนพบฟอสซิลไข่เต่ายักษ์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีตัวอ่อนข้างใน