พนักงานบริการ สุดทน เลื่อนเปิดสถานบันเทิง ชวนส่งรองเท้าไปทำเนียบ ตบหน้ารัฐบาล

Home » พนักงานบริการ สุดทน เลื่อนเปิดสถานบันเทิง ชวนส่งรองเท้าไปทำเนียบ ตบหน้ารัฐบาล


พนักงานบริการ สุดทน เลื่อนเปิดสถานบันเทิง ชวนส่งรองเท้าไปทำเนียบ ตบหน้ารัฐบาล

พนักงานบริการ สุดทนรัฐ เลื่อนเปิดสถานบันเทิงไปเรื่อย รณรงค์ส่งรองเท้าไปทำเนียบ ตบหน้ารัฐบาล ตัวแทนกลุ่มป้อง น้องโอลีฟ ชี้ทุกคนต้องเอาตัวรอด

วันที่ 26 พ.ย.64 พนักงานบริการ จ.เชียงใหม่, เชียงราย, ลำปาง ,กรุงเทพฯ, สมุทรสาคร ,อุดรธานี, มุกดาหาร ,พัทยา, ภูเก็ต, กระบี่ และ มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ร่วมกันทำจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลเพื่อขอให้เยียวยาพนักงานบริการหลังจากรัฐบาลมีคำสั่งปิดสถานบริการ

ในจดหมายเปิดผนึกระบุว่า กลุ่มพนักงานบริการที่รวมกลุ่มกันเพื่อทำกิจกรรมสิทธิของพนักงานบริการ สมาชิกในกลุ่ม คือ คนทำงานบริการในสถานบริการ บาร์ คาราโอเกะ อะโกโก้ อาบอบนวด นวดสปา และคนทำงานในพื้นที่อิสระ รวมไปถึงบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยในการทำงานและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ให้ได้รับสิทธิ ไม่ถูกเลือกปฏิบัติและตีตรา

แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ มกราคม ปี 2563 จนกระทั่งตอนนี้ เป็นเวลากว่า 23 เดือน ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศไทยทั้งธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่ต้องปิดตัวลง ลูกจ้างถูกไล่ออก เกิดภาวะตกงานทั่วประเทศ

อีกทั้งการบริหารจัดการแก้ไขของรัฐบาลที่ไม่มีประสิทธิภาพและล่าช้า แม้ว่ารัฐบาลจะได้ออกมาตรการต่าง ๆ มาช่วยเหลือประชาชน เช่น โครงการเราไม่ทิ้งกัน เรารักกันเราชนะ คนละครึ่ง หรือเงินช่วยเหลือจากประกันสังคม ซึ่งพบว่าเงินเยียวยาไม่เพียงพอ ไม่ทั่วถึงกับแรงงานในทุก ๆ กลุ่ม เช่น พนักงานบริการที่ไม่มีประกันสังคม กลุ่มแรงงานข้ามชาติและชาติพันธ์ โครงการเยียวยาต่าง ๆ ที่รัฐมีนั้นไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา อีกทั้งยังเลือกปฏิบัติไม่ทั่วทั้งประเทศ ไม่ได้ทุกกลุ่ม

ในจดหมายระบุว่า ผลกระทบที่เกิดกับพนักงานบริการและครอบครัวที่ต่อเนื่องยาวนาน คือ ตกงานไม่มีรายได้ จากการถูกสั่งปิดร้าน พนักงานบริการไม่มีประกันสังคมเข้าไม่ถึงเงินว่างงาน อีกทั้งรัฐมีคำสั่งให้ปิดสถานบริการก่อนจนถึงปัจจุบันยังไม่ได้เปิดแต่ไม่เยียวยา รัฐบาลไม่มีแนวทางช่วยเหลือและแก้ปัญหาอย่างชัดเจน สภาพจิตใจย่ำแย่ เครียด

“สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนว่าจะได้กลับไปทำงานอีกเมื่อไร ความไม่ชัดเจนของรัฐบาลสร้างผลกระทบทางจิตใจอย่างหนัก พนักงานบริการประสบปัญหาเงินเก็บหมดไป หนี้สินเพิ่มพูน ทางออกไม่มี ไม่ได้เงินเยียวยา เกิดผลกระทบหนักมากขึ้นต่อพนักงานบริการที่เป็นหลักครอบครัว เป็นแม่ หางานใหม่ไม่ได้เพราะภาคธุรกิจอื่น ๆ ก็ปิดตัวลง” จดหมายถึงรัฐบาลระบุ

ในจดหมายระบุด้วยว่าการแพร่ระบาด โควิด19 ระลอก 3 รัฐบาลมีคำสั่งให้ปิดสถานบริการ ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2564 และเลื่อนเปิดสถานบริการจาก วันที่ 1 ธันวาคม 2564 ออกไปเป็นวันที่ 16 มกราคม 2565 รัฐบาลมีคำสั่งเลื่อนเปิดมาแล้วถึง 4 ครั้ง เป็นระยะเวลายาวนานถึง 220 วันโดยรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาและไม่มีความชัดเจน ไม่มีการช่วยเหลือ มีแต่คำสั่งปิด และเลื่อนเวลาเปิดสถานบริการและไม่มีการช่วยเหลือพนักงานบริการ

เราได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 ไม่มีคำตอบ จนกระทั่งเราต้องไปเรียกร้องหน้าทำเนียบ วันที่ 29 มิถุนายน 2564 ได้รับคำตอบว่า รัฐบาลเยียวยาแล้วให้ร่วมโครงการที่รัฐบาลมี ซึ่งแสดงให้เห็นชัดว่ารัฐบาลไม่ได้ฟังเสียงผลกระทบของพนักงานบริการว่าเราเข้าถึง ไม่ทั่วถึงและเพียงพอ

ดังนั้น พนักงานบริการยังยืนยันข้อเรียกร้องเดียว คือ ให้รัฐดำเนินการเยียวยาพนักงานบริการเนื่องจากคำสั่งปิดสถานบริการตามมาตราการของภาครัฐ เป็นจำนวนเงิน 5,000 บาท ต่อเดือน ให้กับพนักงานบริการ และคนทำงานในสถานบริการ ทุกคนจนกว่าสถานบริการจะกลับมาเปิดดำเนินกิจการได้ ทั้งนี้รวมไปถึงคนทำงานในสถานบริการที่มีการจ้างงานชั่วคราวหรือรายครั้งและครอบคลุมถึงคนทำงานที่เป็นชาติพันธุ์และแรงงานข้ามชาติ

“เพราะฉะนั้นในครั้งนี้เราพนักงานบริการจึงออกจดหมายเปิดผนึก โดยมีพนักงานบริการ ในสถานบริการ อาบอบนวด อะโกโก้ บาร์ คาราโอเกะ นวดสปา และพนักงานบริการอิสระออนไลน์ เรียกร้องให้รัฐบาลรับฟังเสียงเรา เพื่อทวงถามให้รัฐบาลรักษาหน้าที่ เร่งดำเนินการเยียวยาให้กับพนักงานบริการตามข้อเรียกร้องดังกล่าวโดยเร่งด่วน”

ไหม จันตา ผู้ประสานงานเครือข่ายพนักงานบริการ มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ กล่าวว่าพนักงานบริการจำนวนมากต้องกลับไปอยู่บ้านในต่างจังหวัด ขณะที่อีกจำนวนไม่น้อยไม่มีบ้านจึงต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด บางคนทำงานออนไลน์ แต่ไม่มีใครอยากพูดเพราะกลัวตำรวจมักล่อซื้อ แต่สำหรับคนสูงอายุที่เคตยทำงานตามบาร์ พอปิดตัวก็ไปสมัครงานที่ไหนไม่ได้ ต้องอาศัยข้าวของหรืออาหารที่มีคนแจกมาเก็บตุนไว้เพื่ออยู่รอดไปวันๆ และพยายามใช้จ่ายให้น้อยที่สุด ทุกคนหวังว่าวันที่ 1 ธันวาคมจะได้กลับเข้าไปทำงาน แต่ก็ถูกเลื่อนออกไปอีก จนไม่มีใครเชื่อรัฐบาลอีกแล้ว

“เราอยากทำมากกว่าจดหมายเปิดผนึก จึงทำคลิปและชักชวนทุกคนร่วมกันส่งรองเท้าไปยังรัฐบาล เพื่อเป็นสัญลักษณ์ตบหน้า และอยากให้เห็นว่าพนักงานบริการไม่ยอมแล้ว”ไหม กล่าว

ไหม ยังได้แสดงความเห็นกรณีที่ น.ส.อรัญญา อภัยโส หรือ น้องโอลีฟ อายุ 23 ปี แม่ค้าขนมโตเกียวเนยกรอบ ถูกวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ตักเตือนเรื่องการแต่งกายวาบหวิว ว่าทุกคนมีสิทธิทำมาหากินและทุกคนต่างก็ต้องเอาตัวรอดในยุคปัจจุบันซึ่งการแต่งตัวในลักษณะดังกล่าวเป็นจุดขายของเขา แม้บางคนแค่มาดูและไม่ซื้อก็ตาม และในมุมมองศีลธรรมต้องก็ควรดูหลายแง่มุม

ทำไมพอดาราใส่โป๊ก็ยังสามารถทำมาหากินได้และไม่มีใครดา แต่พอคนหาเช้ากินค่ำทำบ้างกลับกลับกลายเป็นประเด็นที่ถูกนำไปเชื่อมกับศีลธรรม ซึ่งเรื่องในลักษณะนี้พนักงานบริการเคยโดนมาแล้วเพราะการไม่แยกแยะ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ