นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จ.เชียงใหม่ เขต 5 พรรคเพื่อไทย ที่ทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีจำนวน 6 คน ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันจันทร์ (16 ส.ค.) หนึ่งใน 6 คนดังกล่าว คือ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
คุมโควิดล้มเหลว-ค้าความตายประชาชน
เหตุผลที่ยื่นให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ นั้น เอกสารดังกล่าวระบุว่าควบคุมโรคโควิด-19 ไม่ได้ จนประชาชนติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมาก จนทำให้ระบบสาธารณสุขล้มเหลว ที่ส่งผลให้โรงพยาบาลรับคนไม่ไหว จนประชาชนต้องเสียชีวิตที่บ้านหรือริมถนนโดยไม่ได้รับการรักษา และยังใช้มาตรการปิดกิจการและล็อกดาวน์โดยขาดความรู้และไม่รอบคอบ จนเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรง ประชาชนตกงาน หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์
ญัตตินี้ ระบุต่อไปว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังจัดหาวัคซีนล่าช้า ไม่เพียงพอต่อความต้องการ อย่างเช่น การไม่ยอมเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ ที่ทำให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติต้องขอโทษประชาชนผ่านสื่อในเวลาต่อมา และยังเกิดข้อครหาว่า “ปิดบังอำพรางไม่โปร่งใส” และนำวัคซีนโรคโควิด-19 มาหาผลประโยชน์เข้าพวกพ้องในลักษณะ “ค้าความตาย” กับประชาชน ขณะเดียวกันก็ยังจัดงบประมาณไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ จนทำให้เกิดความวุ่นวายต่างๆ นานา
หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน ระบุในเอกสารอีกว่า ความล้มเหลวเหล่านี้นี้เกิดขึ้นภายใต้อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ประกาศรวบอำนาจตามกฎหมาย 40 ฉบับ ที่เป็นอำนาจของรัฐมนตรีและรัฐบาลมาไว้กับตัวเอง ที่สะท้อนถึงอาการของโรค “โอหังคลั่งอำนาจ” จึงไม่อยู่ในภาวะที่จะเป็นผู้นำประเทศได้อีกต่อไป และถ้าหากปล่อยให้อยู่ต่อ ก็ไม่มีทางควบคุมโรคโควิด-19 ได้ ประชาชนอาจติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น จนหาสถานฌาปนกิจไม่ทันแน่นอน
นอกจาก พล.อ.ประยุทธ์ แล้ว ยังมีรัฐมนตรีอีก 5 คนมีรายชื่อที่จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย ได้แก่
- นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
- นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
- นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
- นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
การยื่นขออภิปรายไม่ไว้วางใจนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่น่าเป็นห่วง ที่กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 20,000 คนต่อวัน ติดต่อกันหลายสัปดาห์แล้ว และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คนต่อวันในช่วงเดียวกัน
ขณะเดียวกัน ผู้คนในพื้นที่หลายจังหวัดที่มีการติดเชื้อรุนแรงที่สุด อย่างเช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ยังอยู่ภายใต้การจำกัดเวลาออกจากที่พักอาศัย (เคอร์ฟิว) และการปิดสถานบันเทิง ร้านค้าต่างๆ ร้านอาหารไม่ให้ลูกค้านั่งรับประทานในร้าน ที่กระทบต่อรายได้และการใช้ชีวิต