ฝ่ายค้าน จัดเวทีเสวนา กราดยิงหนองบัวลำภู อัด รัฐบาลแก้ปัญหายาเสพติดล้มเหลว กระบวนการบำบัดไม่เข้มแข็ง จี้ ทบทวนครองอาวุธปืน เสนอ 7 ข้อแก้ปัญหาเกิดซ้ำ
เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2565 ที่โรงแรม อมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กทม. โครงการผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรพบประชาชน ประจำปีงบประมาณ 66 จัดเวทีเสวนา “ถอดบทเรียนเหตุการณ์หนองบัวลำภู” โดยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่ง ว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา 65 เกิดเหตุโศกนาฎกรรมที่ จ.หนองบัวลำภู ทำให้มีผู้เสียชีวิต 37 ราย เป็นเด็กถึง 24 ราย แบ่งเป็นเด็กเล็ก 23 ราย และเด็กประถมวัย 1 ราย
วันนี้ฝ่ายค้านไม่ได้ต้องการตอกย้ำการสูญเสีย หรือพูดเพื่อหาเสียง แต่เป็นการหาทางออกให้ประเทศ และเป็นการถอดบทเรียน โดยจะนำการถอดบทเรียนนี้ไปใช้ในการตรวจสอบถ่วงดุลในสภาฯ ซึ่งฝ่ายค้านจะยื่นญัตติด่วน เรื่องเหตุการณ์หนองบัวลำภู ในวันที่ 3 พ.ย.นี้ เพื่อนำไปเป็นข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวอีกว่า สิ่งที่อยากฝากให้ถอดบทเรียน คือ สาเหตุแรงจูงใจว่าเกิดเพราะอะไร เหตุใดตำรวจนอกราชการที่ถูกไล่ออก เพราะเกี่ยวข้องกับยาเสพติดจึงมีพฤติการณ์เช่นนี้ เรื่องการใช้อาวุธปืนไม่อาจปฏิเสธได้ มีคำพูดจากนักวิเคราะห์ว่า สาเหตุมาจากสองเถื่อน คือ ปืนเถื่อนกับคนเถื่อน ฉะนั้น สิ่งที่ไม่อาจละเลยได้คือปัญหาสภาพจิตในสังคมไทยปัจจุบัน
“ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว ถ้าใจคิดอย่างไรกายจะเป็นเช่นนั้น ปกติเราใช้แรงบันดาลใจ แต่กลับมีใครคนหนึ่งบอกว่าต้องใช้ใจบันดาลแรง และเขาก็พิสูจน์ชัดตอนขึ้นมาเป็นรักษาการนายกฯ ดูมีแรง มีกำลังใจฮึกเหิมมาก จากเป็นเด็กสมบูรณ์อยู่ในขวดซีอิ๊ว พอได้เป็นรักษาการนายกฯ ออกมาเป็นแหนมป้าย่น ใส่กางเกงยีนส์ มีแรงขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด แต่พอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าให้คนเดิมกลับมาทำหน้าที่ต่อทุกอย่างก็แผ่ว ฉะนั้น เรื่องจิตใจเป็นเรื่องสำคัญ” ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าว
จากนั้น นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เหตุการณ์หนองบัวลำภู ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ไม่ใช่อุบัติเหตุ แต่เกิดขึ้นจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก แน่นอนว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เกิดจากคนขาดสติสัมปชัญญะ แต่อะไรที่ทำให้เขาเสียสติ ตนคิดว่าอันดับแรก คือ ยาเสพติด
รัฐบาลพยายามยืนยันตลอดว่าปราบปรามยาเสพติดแล้ว และปฏิเสธตลอดว่าไม่มียาเสพติดแล้ว ทั้งที่ทุกวันนี้ในหมู่บ้านและชุมชน ยาเม็ดละ 10 บาท เป็นตัวชี้วัดว่ายามีเยอะเข้าถึงง่าย นอกจากนี้ คนบ้าแล้วมีอาวุธในมือก็เป็นเรื่องอันตรายมาก เพราะโอกาสที่จะเกิดอาชญากรรมมีสูง บ้านเราอาวุธที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีน้อยกว่าปืนเถื่อน 3 เท่า ดังนั้น ประเทศเราจึงมียาบ้าเยอะ อาวุธปืนเยอะ คนที่อยู่ในกลุ่มที่มีอำนาจมากแต่มีสติน้อย ก็เป็นกลุ่มที่ก่อเหตุมากที่สุด เพราะหากมีอำนาจ มีอาวุธ แล้วเกิดมีความไม่เป็นธรรมไปกดทับเขาก็จะเกิดเหตุได้ง่าย
นายสุทิน กล่าวต่อว่า ปัจจุบันเราแก้กฎหมายปราบปรามยาเสพติดผิดพลาด ทำให้คนอย่างผู้ก่อเหตุที่หนองบัวลำภู ซึ่งอยู่ในระดับสติสุ่มเสี่ยงแบบนั้นมีอยู่ทุกหมู่บ้าน กฎหมายล่าสุดใครพกยาไม่เกิน 15 เม็ด ถือว่าไม่ใช่ผู้จำหน่าย จะต้องมีการสืบสวนเพิ่มเติม ส่วนข้อหาผู้เสพมีการแก้ไขว่า ผู้เสพคือผู้ป่วย พอจับได้จะดำเนินคดีทันทีไม่ได้ แต่เจ้าหน้าที่ต้องถามความสมัครใจว่ายินดีจะเข้าบำบัดหรือต่อสู้คดี
ซึ่งส่วนใหญ่เลือกวิธีการบำบัด เหตุผลหนึ่งของการแก้กฎหมาย เพื่อต้องการลดจำนวนคนติดคุก แต่ปัญหาคือเมื่อส่งไปบำบัด กระบวนการบำบัดไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะทำให้เขาเลิกยาได้ เมื่อกลับบ้านไปก็เป็นระเบิดเวลาของครอบครัว มีการขู่ ทำร้ายคนในครอบครัว และเป็นอันตรายต่อคนในชุมชน วันนี้องค์กรสีกากีกับองค์กรสีเขียว ได้ตื่นรู้ ปฏิรูป และแก้ปัญหาแล้วหรือไม่ องค์กรที่มีอำนาจ มีอาวุธ อย่างองค์กรตำรวจและทหาร ต้องปฏิรูปตัวเองด่วน
“วันนี้โครงสร้างปัญหายังมีครบทั้งยาเสพติด อาวุธ และความไม่เป็นธรรม ประกอบกับจุดสปาร์กอย่างปัญหาเศรษฐกิจ ที่วันนี้รัฐบาลทำให้คนอดอยาก หนี้สินรุมเร้า อาชีพหดหาย ดังนั้น รัฐบาลต้องจัดการโครงสร้างปัญหาเหล่านี้ให้ครบ คือ ต้องจัดการยาเสพติด จัดระเบียบการซื้อ และครอบครองอาวุธปืนใหม่ วันนี้ถึงเวลาทบทวนหรือยังว่า การให้มีปืนทุกคนกับไม่ให้มีปืนสักคนแบบไหนจะดีที่สุด” นายสุทิน กล่าว
ด้าน นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวว่า เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นซ้ำหลายรอบ คิดว่ามีปัญหา 4 ข้อ คือ 1.ปัญหาปืนเถื่อน 2.ปัญหายาเสพติด แม้การผลิตจะอยู่นอกประเทศ แต่ได้เกิดการทุจริตในวงราชการของไทย 3.ปัญหาสภาพแวดล้อมของตำรวจและทหาร อาวุธปืนที่ต้องซื้อเอง ชุดเครื่องแบบ เงินเดือนไม่เยอะแต่ต้นทุนการทำหน้าที่สูง ทหารมีการคอร์รัปชั่นภายใน เบี้ยเลี้ยงผี และมีการหักหัวคิว
การเจริญเติบโตความสามารถไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญที่สุด แต่เป็นเรื่องตั๋ว ใครมีตั๋วได้ขึ้น ร้องเรียนขอความเป็นธรรมไปไม่ได้ผล กระทั่งต้องมาจบเรื่องด้วยปืน และ 4.ปัญหาการลอกเลียน เป็นปัญหาที่ต้องจัดการอย่างจริงจัง งานวิจัยในสหรัฐฯ ระบุว่าการกราดยิงเป็นวิธีหนึ่งในการฆ่าตัวตาย เพราะเขารู้ว่าทันทีที่ลั่นกระสุนจะดำเนินชีวิตไม่ได้อีกแล้ว การที่ต้องเอาชีวิตผู้อื่นไปด้วย เพราะการกราดยิงเกิดจากแรงกดดัน และเขาคิดว่าเขาจำเป็นต้องเรียกร้องความไม่เป็นธรรมจากผู้อื่นด้วย
นายรังสิมันต์ กล่าวเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา ว่า เราจะต้องจัดการ 7 ข้อ ประกอบด้วย 1.จัดการคอร์รัปชั่น จัดการตั๋วช้างให้หมดไปจากตำรวจและทหาร 2.ดูแลสวัสดิการเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย 3.ควบคุมปืนอย่างเคร่งครัด การสอบใบอนุญาต ครอบครองปืน 4.ตรวจสอบบุคลากรในการทำงาน 5.สร้างกลไกให้ตำรวจและทหารเข้าถึงจิตแพทย์และนักจิตวิทยา 6.ทบทวนจัดลำดับความสำคัญในการทำหน้าที่ภารกิจ และ 7.การดำเนินคดีที่เป็นธรรม ถ้าทำได้ทั้งหมดจะทำให้ระบบราชการมีประสิทธิภาพ