นอกจากอาหารพลังงานสูงอย่างของทอด ของมัน อาหารไขมันสูง แป้ง และน้ำตาลแล้ว “ผงชูรส” อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เราอ้วนขึ้นได้ ทั้งเหตุผลทางตรง และทางอ้อม
ผงชูรส มักเป็นเครื่องปรุงรสที่ไม่มีรสชาติที่ชัดเจน หากแต่เราใส่ลงไปในอาหารเพื่อให้ได้รสชาติ “กลมกล่อม” กล่าวคือ อาหารหลายๆ เมนูรสชาติดีขึ้นเมื่อมีผงชูรส โดยรสชาติกลมกล่อม หรือที่บางคนเรียกว่ารส “อูมามิ” เป็นรสชาติที่มาจากทั้งการทำอาหารตามธรรมชาติ น้ำซุบต้มกระดูกสัตว์ ผักบางชนิดที่ให้รสหวานอ่อนๆ เช่น หัวไชเท้า หรือจะเป็นผักอย่างเห็ดหอม สาหร่าย หรือจะเป็นการเติมรสกลมกล่อมด้วยการเติมผงชูรสสำเร็จรูปเป็นผงๆ
ผงชูรส ทำให้อ้วน?
นักวิจัยพบว่าคนที่กินผงชูรสมากกว่า จะมีโอกาสที่น้ำหนักจะขึ้นง่ายกว่าคนที่ไม่กินผงชูรส
เหตุผลทางตรง คือ เมื่ออาหารอร่อย กลมกล่อมลิ้นมากขึ้น อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เรากินอาหารมากขึ้นกว่าเดิม จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราอ้วนง่ายขึ้นได้
ส่วนเหตุผลทางอ้อม อาจมาจากการที่คนที่กินผงชูรสในปริมาณมาก อาจเข้าไปยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนเลปติน ที่ป็นฮอร์โมนที่ควบคุมความหิว ดังนั้นจึงส่งผลให้เรากินอาหารมากขึ้นได้
นอกจากนี้ ในผงชูรสยังมีส่วนประกอบของโซเดียม ที่อาจทำให้ตัวบวมน้ำได้
นอกจากนี้ หมอผิง ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณและเวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ยังระบุอีกว่า ผงชูรสยังเพิ่มการอักเสบระดับโมเลกุล ส่งเสริมการดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งส่งผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกายด้วย
ผงชูรส อันตรายหรือไม่?
อันที่จริงแล้ว ผงชูรสผลิตจากวัตถุดิบหลักจากธรรมชาติ ไม่ได้เป็นอันตรายอะไรกับร่างกายจากส่วนประกอบของผงชูรส แต่การกินผงชูรสในบางรายที่มีอาการแพ้ผงชูรส อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ ความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้น ขึ้นอยู่กับอาการของรายบุคคล อาการที่พบได้อาจจะมีตั้งแต่ หิวน้ำ ปากบวม ลิ้นบวม หายใจไม่ออก หากมีอาการหนักมาก เป็นคนที่มีประสาทสัมผัสไวต่อผงชูรสมาก หรือรับประทานในปริมาณมาก อาจมีอาการไปจนถึงใจเต้นแรง หรืออัมพาตชั่วคราวได้
อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้เป็นคนที่มีอาการแพ้ผงชูรส การรับประทานผงชูรสเพียงเล็กน้อยปลายช้อนชาต่อ 1 มื้ออาหาร ไม่ได้เป็นอันตรายใดๆ ต่อร่างกาย ทางที่ดีควรลองสังเกตอาการของตัวเองดูว่ามีประสาทสัมผะสที่ไวต่อผงชูรสมากน้อยแค่ไหน เพราะในแต่ละคนไม่เท่ากัน
กินผงชูรสอย่างไรให้ปลอดภัย?
หากจะปรุงอาหารทานเองที่บ้าน ก็ควรใส่ผงชูรสแค่ปลายๆ ช้อนชา ต่อการทานอาหาร 1 มื้อ หากเลือกปรุงอาหารประเภทน้ำซุป ควรใช้กระดูกสัตว์ในการต้มทำน้ำสต็อกแทนการใส่ผงชูรสมากๆ หากอาหารจานนั้นมีการปรุงรสที่ค่อนข้างจัดแล้ว ควรเลี่ยงในการใส่ผงชูรสซ้ำ เพราะในเครื่องปรุงบางส่วนก็มีส่วนผสมของผงชูรสอยู่แล้ว (หรือมีรสกลมกล่อมจากการหมักตามธรรมชาติ เช่น น้ำปลา) ส่วนการรับประทานอาหารนอกบ้าน ควรเลือกร้านที่สามารถแจ้งความประสงค์ขอลดการใส่ผงชูรสได้ หรือเลือกร้านที่เราเห็นขั้นตอนในการปรุงอาหาร และมั่นใจได้ว่าร้านนั้นๆ ไม่ใส่ผงชูรสมากเกินไป (มากกว่า 1 ช้อนชาต่อ 1 จาน)
- รู้ใหม่! “ผงชูรส” กินได้ ไม่อันตราย หากกินอย่างพอเหมาะ
- จริงหรือไม่? กิน “ผงชูรส” มากๆ ทำให้ “ผมร่วง” พร้อมวิธีกินอย่างไรให้ปลอดภัย