ป้องกันตัวเองจากมิจฉาชีพ เมื่อไม่มีหน่วยงานไหนช่วยเราได้จริง ๆ

Home » ป้องกันตัวเองจากมิจฉาชีพ เมื่อไม่มีหน่วยงานไหนช่วยเราได้จริง ๆ
ป้องกันตัวเองจากมิจฉาชีพ เมื่อไม่มีหน่วยงานไหนช่วยเราได้จริง ๆ

เรื่องของอาชญากรรมทางเทคโนโลยี แก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือส่งลิงก์ปลอมมาให้กด ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องพยายามเตือนภัยกันอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าหลายคนจะรู้เท่าทันและเอาตัวรอดมาได้เสมอ แต่ยังมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่รู้ อีกทั้งความเหิมเกริมของแก๊งมิจฉาชีพที่ไม่มี่ทีท่าว่าจะแผ่วลง หนำซ้ำยังระบาดหนักขึ้นกว่าเมื่อก่อน และยังขยันมีมุกใหม่ ๆ มาล่อเหยื่อให้หลงกลเสมอ และสำคัญที่สุด คือเมื่อหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีหน้าที่ต้องคอยช่วยเหลือและป้องกันภัยให้ประชาชนก็ไม่ได้ช่วยเหลือเราได้มากเท่าที่ควรถ้าเกิดตกเป็นเหยื่อโดนหลอกขึ้นมา จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องเตือนภัยกันบ่อย ๆ ถึงกลโกงที่มิจฉาชีพ เพื่อที่จะได้ปกป้องทรัพย์สินของตัวเองได้

สำนักงานตำรวจแห่งชาติเตือน 5 ลิงก์มิจฉาชีพ อันตรายหลอกดูดเงิน ล้วงข้อมูล

สำนักงานตำรวจแห่งชาติออกโรงเตือนภัยออนไลน์ เนื่องจากกลุ่มมิจฉาชีพมีการพัฒนารูปแบบในการหลอกลวงประชาชนอยู่เสมอ โดยมีการนำหลักจิตวิทยา “รัก โลภ ตกใจ เชื่อใจ” มาปรับใช้ในการหลอกล่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มมิจฉาชีพจะมีการนำลิงก์รูปแบบต่าง ๆ มาใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด ซึ่งถ้าผู้เสียหายหลงเชื่อกดลิงก์ แล้วกรอกข้อมูลหรือติดตั้งแอปพลิเคชันจากลิงก์ดังกล่าว ก็จะตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพในที่สุดโดยลิงก์ที่กลุ่มมิจฉาชีพมักนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด จะมี 5 รูปแบบดังต่อไปนี้

1. “ลิงก์ดูดเงิน” คือ ลิงก์ที่หลอกให้ผู้เสียหายกรอกข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางการเงิน หรือติดตั้งแอปพลิเคชันเพื่อทำธุรกรรมถอนเงินจากบัญชีของผู้เสียหาย เช่น หลอกให้กรอกข้อมูลบัญชีอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง หลอกให้กรอกข้อมูลบัตรเครดิต หลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมเครื่องระยะไกล เป็นต้น โดยมากจะเป็นเครื่องมือหลักของแก๊งคอลเซนเตอร์ ที่อาจอ้างหน่วยงานราชการต่าง ๆ สร้างเนื้อหาให้เหยื่อตกใจ โลภ เชื่อใจ แล้วหลงเชื่อ เช่น เหยื่อมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องผิดกฎหมาย ได้รับเงินคืนจากกรณีต่าง ๆ (มิเตอร์ไฟฟ้า, เงินบำเหน็จบำนาญ, คืนภาษี ฯลฯ) หรือเป็นผู้โชคดีจากแคมเปญหรือเทศกาลได้รับเงิน ของขวัญ เป็นต้น

2. “ลิงก์หลอกให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคล” คือ ลิงก์ที่นำไปสู่เว็บไซต์ปลอมที่มีรูปแบบคล้ายกับเว็บไซต์ของผู้ให้บริการต่าง ๆ หากเหยื่อหลงเชื่อกรอกข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลบัญชีผู้ใช้ หรือรหัสผ่าน กลุ่มมิจฉาชีพก็จะนำข้อมูลที่ได้ไปใช้เพื่อแสวงหาประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ

3. “ลิงก์หลอกลงทุน” คือ ลิงก์ที่นำไปสู่เว็บไซต์หรือติดตั้งแอปพลิเคชันลงทุนปลอม หลอกล่อให้ผู้เสียหายลงทุนในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง โดยอ้างว่าลงทุนแล้วได้กำไรมาก ในระยะเวลาสั้น ๆ มีการนำภาพนักธุรกิจหรือองค์กรธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาประกอบเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ

4. “ลิงก์เว็บพนัน” คือ ลิงก์ที่นำไปสู่เว็บไซต์การพนันออนไลน์ ซึ่งจะมีทั้งเว็บไซต์การพนันออนไลน์จริง ๆ และเว็บไซต์การพนันออนไลน์ปลอม อาจมีโปรโมชันหลอกล่อให้เหยื่อหลงเข้าไปเล่นการพนัน หากผู้เสียหายหลงเชื่อเข้าเล่นเว็บพนัน นอกจากจะเสียทรัพย์สินแล้ว ยังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอีกด้วย

5. “ลิงก์เงินกู้ปลอมหรือผิดกฎหมาย” คือ ลิงก์ที่นำไปสู่เว็บไซต์หรือบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ของกลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวงให้โอนเงินค่าใช้จ่ายในการกู้เงินก่อนแต่ไม่ได้รับเงินจริง หรือนำไปสู่เว็บไซต์หรือบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ของกลุ่มเงินกู้นอกระบบ เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราและมีการทวงหนี้โดยผิดกฎหมาย เช่น โทรมาขู่บังคับหรือต่อว่าด้วยถ้อยคำรุนแรง

หากเจอมิจฉาชีพส่งลิงก์ใด ๆ ที่เข้าข่ายเป็นลิงก์อันตราย 5 รูปแบบข้างต้น สิ่งสำคัญคือ ให้ปฏิบัติตามหลัก “ห้ามกด ห้ามกรอก ห้ามติดตั้ง” เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพ โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • “ห้ามกด” ห้ามกดลิงก์ที่ไม่ทราบแหล่งที่มาหรือไม่น่าไว้วางใจ
  • “ห้ามกรอก” ห้ามกรอกข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลบัญชีธุรกรรมทางการเงิน หรือข้อมูลบัตรเครดิต ในเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันที่ไม่น่าเชื่อถือโดย
  • “ห้ามติดตั้ง” ห้ามติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่น่าเชื่อถือ และตรวจโทรศัพท์มือถือว่ามีแอปพลิเคชันแปลกปลอมใดติดตั้งอยู่หรือไม่อย่างสม่ำเสมอ

หากใครได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ บนเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th หรือสายด่วน AOC 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม หากจะทำการแจ้งความผ่านทางออนไลน์ก็ยังต้องดูให้ดี ๆ เพราะล่าสุด พบว่ามีมิจฉาชีพสร้างเพจเฟซบุ๊กปลอม อ้างตัวเป็นตำรวจหลอกว่าจะช่วยเหลือคดีออนไลน์ ซึ่งขณะนี้พบเหยื่อมิจฉาชีพรูปแบบต่าง ๆ หลงเชื่อ ติดต่อเข้าแจ้งความออนไลน์ผ่านเว็บไซต์หรือเพจเฟซบุ๊กปลอมที่มิจฉาชีพสร้างไว้เเป็นจำนวนมาก โดยขบวนการดังกล่าวจะแอบอ้างเป็นตำรวจหรือหน่วยงานด้านกฎหมาย หลอกซ้ำหลอกซ้อนเหยื่อที่จะติดต่อแจ้งความผ่านออนไลน์ แต่ไปเจอเว็บปลอมของมิจฉาชีพเข้า อ้างว่าจะช่วย สุดท้ายก็โดนหลอกให้โอนเงินอีกต่อ หลอกในหลอก!

ดังนั้น ก่อนจะเชื่ออะไร ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อจะไม่หลงเชื่อมิจฉาชีพที่อาจสร้างสถานการณ์แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ฯ แล้วโน้มน้าว สร้างเรื่องกดดันให้เรารีบโอนเงิน ซึ่งจะมีกระบวนการหลอกให้เหยื่อเชื่อ ดังนี้

  • อ้างว่าจะช่วยเหลือเรื่องคดี กฎหมาย หรือรับร้องทุกข์
  • เมื่อผู้เสียหายติดต่อมิจฉาชีพเข้าไปในเพจปลอมที่สร้างขึ้น มิจฉาชีพก็จะพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องคดีหรือพยายามจะช่วยเหลือนำเงินที่ถูกหลอกไปกลับคืนมา
  • วิดีโอคอลเพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อว่าบุคคลที่สนทนาอยู่ด้วยนั้นเป็นตำรวจจริง
  • จากนั้นจะหว่านล้อมให้เหยื่อโอนเงินเข้าไปในระบบเพื่อตรวจสอบก่อน
  • สุดท้ายเหยื่อกลับเสียเงินเพิ่ม และไม่ได้เงินที่ถูกหลอกกลับคืนมาแต่อย่างใด

ธนาคารแห่งประเทศไทย “เตือน” กลโกงมิจฉาชีพ สารพัดมุกที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ชอบใช้

นอกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยก็เคยทำบทความที่แนะนำเกี่ยวกับกลโกงทางโทรศัพท์ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่จะสุ่มเบอร์เพื่อโทรศัพท์ไปหาเหยื่อหรือส่งข้อความ SMS แล้วแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ หรือองค์กรต่าง ๆ ให้ดูน่าเชื่อถือ จากนั้นก็จะสร้างเรื่องหลอกลวงให้เหยื่อหลงเชื่อ โดยมีเป้าหมายคือ “นำเงินเหยื่อออกจากบัญชีด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง” เพื่อให้ประชาชนรู้ทันกลโกงมิจฉาชีพ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้รวบรวมข้ออ้างที่พวกมิจฉาชีพชอบใช้หลอกเหยื่อมาเตือนประชาชน ดังนี้

1. บัญชีเงินฝากถูกอายัด/เป็นหนี้บัตรเครดิต

ข้ออ้างที่มิจฉาชีพนิยมใช้มากที่สุด คือหลอกว่าเหยื่อถูกอายัดบัญชีเงินฝากและเป็นหนี้บัตรเครดิต เพราะเป็นเรื่องที่สามารถสร้างความตกใจแ​ละง่ายต่อการชักจูงเหยื่อให้โอนเงิน ซึ่งปัจจุบันพบว่ามิจฉาชีพจะอ้างว่าเป็นพนักงานธนาคาร บอกข้อมูลได้ถูกต้อง แล้วแจ้งว่าเรามีหนี้บัตรเครดิต หากเหยื่อปฏิเสธก็จะบอกว่าอาจเป็นมิจฉาชีพที่ปลอมบัตรเครดิตเราแล้วเอาไปใช้ จากนั้นก็จะแนะนำให้รีบแจ้งความที่สถานีตำรวจท้องที่ ซึ่งมักอยู่ไกล เช่น ต่างจังหวัด แต่ถ้าเหยื่อไม่สะดวกเดินทางก็จะอาสาว่าจะติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ ซึ่งก็จะส่งสายโทรศัพท์ไปให้ตำรวจตัวปลอมคุยกับเหยื่อต่อ

2. บัญชีเงินฝากพัวพันกับการค้ายาเสพติดหรือการฟอกเงิน

เมื่อมิจฉาชีพหลอกถามข้อมูลจากเหยื่อแล้วพบว่าเหยื่อมีเงินในบัญชีเป็นจำนวนมาก จะหลอกเหยื่อต่อว่าบัญชีนั้น ๆ พัวพันกับการค้ายาเสพติดหรือติดปัญหาการฟอกเงิน จึงขอให้เหยื่อโอนเงินทั้งหมดมาตรวจสอบ

3. เงินคืนภาษี

ข้ออ้างคืนเงินภาษี (ตรงกับช่วงนี้พอดี) จะถูกใช้ในช่วงที่มีการยื่นภาษีและมีการขอคืน โดยมิจฉาชีพจะแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากรแจ้งว่า เหยื่อได้รับภาษีคืนเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะต้องยืนยันรายการและทำตามคำบอกที่ตู้เอทีเอ็ม แต่แท้จริงแล้วขั้นตอนที่มิจฉาชีพให้เหยื่อทำนั้นเป็นการโอนเงินให้กับมิจฉาชีพ​

4. โชคดีรับรางวัลใหญ่

มิจฉาชีพจะอ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่บริษัทหรือตัวแทนองค์กรต่าง ๆ แจ้งข่าวดีแก่เหยื่อว่าเหยื่อได้รับเงินรางวัลหรือของรางวัลที่มีมูลค่าสูง เมื่อเห​ยื่อหลงเชื่อ จะหลอกเหยื่อให้โอนเงินค่าภาษีให้​

​5. หลอกขอข้อมูลส่วนตัว

มิจฉาชีพอาจอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน หลอกด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น อัปเดตข้อมูลส่วนตัว หรืออาจหลอกให้สมัครงานออนไลน์ เพื่อขอข้อมูลส่วนตัวสำคัญ เช่น วัน/เดือน/ปีเกิด เลขที่บัตรประชาชน ก่อนนำไปใช้ในทางทุจริต

6. โอนเงินผิด

หลอกว่าโอนเงินผิดเข้าบัญชีของเหยื่อ ขอให้โอนเงินคืน เมื่อเหยื่อตรวจสอบยอดเงินและพบว่ามีเงินโอนเข้ามาจริง จึงรีบโอนเงินนั้นไปให้มิจฉาชีพ โดยที่ไม่รู้ว่าเงินที่โอนเข้ามานั้น เป็นเงินที่มิจฉาชีพหลอกมาจากเหยื่อรายอื่นให้โอนมาให้เรา เพื่อใช้บัญชีเราเป็นที่พักเงิน หรือเป็นเงินที่ได้มาอย่างผิดกฎหมาย

นอกจากนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ ก็ยังรวบรวมกลโกงแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่มักจะใช้แอบอ้าง พบว่ายังมีมุกอื่น ๆ อีก เช่น การแจ้งคืนเงินค่ามิเตอร์ไฟฟ้า การแจ้งให้ชำระภาษีที่ดิน การแจ้งพัสดุตกค้าง การอ้างเป็นตำรวจติดต่อเข้ามาแจ้งว่าเราพัวพันกับคดีร้ายแรง การอ้างเป็นหน่วยงานรัฐเพื่อแจ้งให้ชำระภาษี/คืนภาษี หรือคืนเงินบำนาญ และล่าสุด มันแย่ถึงขั้นส่งจดหมายปลอมโดยอ้างว่าเป็นจดหมายจากธนาคาร ติดต่อมอบสิทธิพิเศษสำหรับลูกค้า แต่ก่อนจะรับรางวัล ต้องโอนเงินเป็นค่าธรรมเนียมหรือภาษีก่อน!

เมื่อหน่วยงานต่าง ๆ ทำได้แค่ “เตือน”! เพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ

เป็นประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้างมาระยะหนึ่งแล้ว ว่าเมื่อประชาชนได้รับความเสียหายจากแก๊งมิจฉาชีพเหล่านี้ หน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ต้องดูแลทุกข์สุขประชาชน หรือธนาคารเจ้าของบัญชีที่ประชาชนฝากเงินไว้ สามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อไม่ให้ประชาชนต้องตกเป็นเหยื่อแก๊งมิจฉาชีพซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ปรากฏว่า “ช่วยได้น้อยมาก” นอกจากการออกโรงเตือนแบบ “แจ้งเพื่อทราบ ทราบไม่ทราบก็แล้วแต่” แล้ว การออกกฎยุ่งยากต่าง ๆ ในการทำธุรกรรมทางการเงิน ก็ไม่สามารถหยุดยั้งมิจฉาชีพที่นำเงินออกจากบัญชีธนาคารของประชาชนได้เลย

ถ้าจะประเมินตามความเป็นจริงก็คือ หน่วยงานเหล่านี้ควรที่จะต้องมีบทบาทในการจัดการกับแก๊งมิจฉาชีพได้มากกว่าที่เป็นอยู่หรือเปล่า แต่ในความเป็นจริงแทบทำอะไรไม่ได้เลย ลองลิสต์เป็นข้อ ๆ ดูได้เลยว่าสามารถระงับไม่ให้แก๊งมิจฉาชีพเข้าถึงประชาชนได้ง่ายขนาดนี้ได้หรือไม่? สามารถบล็อกข้อความหลอกลวงที่ส่งลิงก์หาประชาชนได้บ้างหรือไม่? สามารถจัดการสารพัดเบอร์ที่ใช้โทรหาประชาชนได้หรือไม่? สามารถตามทวงคืนทรัพย์สินที่ประชาชนสูญเสียไปได้หรือไม่? สามารถรับผิดชอบทรัพย์สินของประชาชนที่หลุดไปยังมิจฉาชีพ ทั้งที่ประชาชนฝากไว้กับธนาคารตนเองได้หรือไม่? หรือหน่วยงานระดับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สามารถออกนโยบายอะไรที่จะบรรเทาความเหิมเกริมของแก๊งมิจฉาชีพได้บ้างหรือไม่? เพราะถ้าทำได้ แก๊งมิจฉาชีพคงไม่ระบาดหนักขนาดนี้

กลายเป็นว่าประชาชนต้องรับผิดชอบตัวเองทุกอย่างเพื่อไม่ให้ตกเป็นเป็นเหยื่อมิจฉาชีพและเมื่อตกเป็นเหยื่อแก๊งมิจฉาชีพแล้ว เพราะเป็นคนถูกหลอกเอง/เป็นคนกดลิงก์ต่าง ๆ เอง กระบวนการโดนหลอกว่าเจ็บใจแล้ว แต่การที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ดีเท่าที่ควรเป็นสิ่งที่น่าเจ็บใจยิ่งกว่า ขนาดจะแจ้งความออนไลน์ยังไปเจอเฟซบุ๊กปลอมของหน่วยงานหลอกซ้ำ เพราะจุดเริ่มต้น มันคือความหละหลวมที่หน่วยงานเหล่านี้ไม่สามารถ “กรอง” มิจฉาชีพ ให้ประชาชนได้ ที่แย่คือบางครั้งก็เป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการหรือเจ้าหน้าที่ธนาคารนี่แหละที่เป็นมิจฉาชีพเสียเอง หรือปล่อยให้มิจฉาชีพสามารถเข้าถึงข้อมูลและตัวตนของประชาชนได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะหมายเลขโทรศัพท์และชื่อ-นามสกุล ที่ทำให้การสร้างเรื่องหลอกลวงเหยื่อทำได้ง่ายดายมากขึ้นไปอีก

ในเมื่อหน่วยงานต่าง ๆ มีบทบาทได้มากที่สุดแค่ทำคอนเทนต์แจ้งเตือนภัยว่ามุกไหนมิจฉาชีพชอบใช้ เพื่อให้ประชาชนรู้ให้ทันกลโกงที่มิจฉาชีพ และ ดังนั้น เราในฐานะประชาชนคนธรรมดาจึงต้องระมัดระวังตัวเองให้ดีที่สุด ต้องมีสติในทุกครั้งที่คุยโทรศัพท์ ว่าสิ่งที่กำลังพูดคุยอยู่เป็นหนึ่งในพล็อตที่มิจฉาชีพใช้กันเป็นประจำหรือเปล่า หรือเวลาที่ใช้งานอินเทอร์เน็ต ที่อาจมีลิงก์แปลก ๆ เด้งขึ้นมาให้เรากด ก็ต้องระมัดระวังไม่ไปกดลิงก์แปลก ๆ หรือลิงก์ประเภทที่เขาเตือน ๆ กันว่าเป็นลิงก์อันตราย บอกเลยว่า ณ จุดจุดนี้ ประชาชนอย่างเรา ๆ ก็ต้องดูแลตัวเองกันต่อไป เพราะคงไม่มีใครดูแลและปกป้องเราได้ดีเท่าตัวเราเองอีกแล้ว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ