ปีแห่งการประท้วงขอขึ้นค่าแรง อังกฤษสไตรค์หยุดงานหนักสุดรอบ34ปี
ปีแห่งการประท้วงขอขึ้นค่าแรง – วันที่ 14 ก.พ. รอยเตอร์รายงานว่า สหราชอาณาจักรเผชิญกับสถานการณ์สูญเสียวันทำงานมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2532 เนื่องมาจากการประท้วงหยุดงานหรือสไตรค์ของพนักงานมากที่สุดเป็นประวัติการณ์เพื่อเรียกร้องให้มีการขึ้นค่าตอบแทนโดยด่วนที่สุด
การสไตรค์ที่เกิดขึ้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากเงินเฟ้อหลังทั่วโลกหลังการยุติใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อสกัดกั้นระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาปี 2019 หรือโควิด-19
สภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวยังต้องพบกับปัญหาซ้ำเติมอย่างค่าพลังงานเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้นจากสงครามรัสเซียรุกรานยูเครนส่งผลให้สินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวสูงขึ้นไปอีก
สำนักงานสถิติแห่งชาติ หรือโอเอ็นเอส ประเทศอังกฤษ ระบุว่า อังกฤษสูญเสียผลผลิตที่มาจากวันทำงานไปเกือบ 2.5 ล้านวันเมื่อปี 2565 และ 4.1 ล้านวันแล้วในปีนี้ สูงที่สุดในรอบกว่า 30 ปี
สาเหตุหลักมาจากการประท้วงหยุดงานขอขึ้นค่าแรงจากบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐ พนักงาน และลูกจ้างในหลายสาขาอาชีพ อาทิ การรถไฟ การศึกษา สาธารณสุข ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อสูงสุดรอบ 40 ปีในอังกฤษ
ข้อมูลจากโอเอ็นเอส ระบุว่า มีวันทำงานสูญเสียไปถึง 843,000 วัน เมื่อเดือนธ.ค. 2565 เนื่องมาจากการประท้วงหยุดงานของพนักงานจากหลายหน่วยงาน เช่น เจ้าหน้าที่สำนักงานตำรวจชายแดน พยาบาลกว่า 1 แสนคน และเจ้าหน้าที่ด้านรถพยาบาลอีกหลายพันคน
แม้การเรียกร้องเล็กๆ น้อยๆ จะได้รับการแก้ไขและตอบรับจากนายจ้างและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่การเรียกร้องเรื่องใหญ่ๆ นั้นกลับแทบไม่มีความคืบหน้า
นำไปสู่การสไตรค์ครั้งมโหฬารเมื่อเดือนม.ค. ที่ผ่านมา ของบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐ ครูอาจารย์ รวมกว่า 5 แสนคน นับเป็นการประท้วงค่าแรงที่ใหญ่ที่สุดของบรรดาสหภาพแรงงานในรอบ 10 ปี ซึ่งยังมีกำหนดจะเดินหน้าสไตรค์เพิ่มเติมตามมาอีก
ด้านท่าทีของรัฐบาลอังกฤษกลับปฏิเสธที่จะอ่อนข้อให้กับการประท้วงข้างต้นและเดินหน้านำเสนอร่างแก้ไขกฎหมายให้เพื่อให้เหล่าสหภาพแรงงานตามกลุ่มสาขาอาชีพที่สำคัญก่อหวอดประท้วงได้ยากขึ้นไปอีก
ขณะที่เหตุผลของรัฐบาลอังกฤษนั้น ระบุว่า การขึ้นค่าแรงเพื่อให้ตามเงินเฟ้อให้ทันนั้นเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืนและจะยิ่งทำให้ปัญหาเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นไปอีก