ปัดกลั่นแกล้ง! ม.รามฯ แจงปมสอบ อนุมัติผู้บริหารยืม iPad ใช้ส่วนตัว ผิดวัตถุประสงค์จัดซื้อ

Home » ปัดกลั่นแกล้ง! ม.รามฯ แจงปมสอบ อนุมัติผู้บริหารยืม iPad ใช้ส่วนตัว ผิดวัตถุประสงค์จัดซื้อ
ปัดกลั่นแกล้ง! ม.รามฯ แจงปมสอบ อนุมัติผู้บริหารยืม iPad ใช้ส่วนตัว ผิดวัตถุประสงค์จัดซื้อ

ม.รามคำแหง แจงการตั้งกรรมการสอบ เรื่องอนุมัติผู้บริหารยืม iPad ใช้ส่วนตัว ผิดวัตถุประสงค์จัดซื้อจัดจ้าง ระบุได้รับหนังสือจาก ป.ป.ช. ปัดกลั่นแกล้ง

มหาวิทยาลัยรามคำแหง ออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณี ที่ อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ออกมาเคลื่อนไหว เรียกร้องขอความเป็นธรรมผ่านสื่อมวลชน กรณีถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง เรื่อง อนุมัติให้ผู้บริหารยืม iPad ไปใช้ โดยมีกำหนดส่งคืนเมื่อครบกำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง โดยกล่าวหาผู้บริหารมหาวิทยาลัยรามคำแหงว่า จงใจกลั่นแกล้งตนเองให้ได้รับความเสียหายอย่างไม่เป็นธรรมนั้น

มหาวิทยาลัยรามคําแหง ยึดมั่นในหลักการตามกฎหมายมาโดยตลอดในการปกป้องชื่อเสียง เกียรติยศ และสิทธิของผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย โดยยังถือว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้บริสุทธิ์ตราบเท่าที่คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยยังไม่มีมติว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดแต่อย่างใด โดยมหาวิทยาลัยรามคำแหงขอชี้แจงดังต่อไปนี้

1. กรณีดังกล่าว มหาวิทยาลัยรามคำแหงดำเนินการตามมติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ได้มีหนังสือถึงมหาวิทยาลัยให้ดำเนินการทางวินัยกับบุคคลหรือคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว หาใช่เป็นการริเริ่มกระบวนการทางวินัยโดยมหาวิทยาลัยรามคำแหงเองแต่อย่างใดไม่ สำหรับรายละเอียดในหนังสือดังกล่าวที่ได้แจ้งให้มหาวิทยาลัยทราบนั้น มหาวิทยาลัยไม่สามารถเปิดเผยได้ในขณะนี้ ทั้งนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 140

2.เมื่อมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้รับหนังสือดังกล่าวจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอนในการสอบสวนพิจารณาทางวินัย พ.ศ. 2564 โดยรักษาราชการแทนอธิการบดีไม่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยโดยพละการ หากแต่ได้ดำเนินการตามครรลองแห่งกฎหมายโดยเคร่งครัดด้วยการเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัย (ก.บ.ม.) เพื่อสอบทานข้อกล่าวหาและข้อเท็จจริงต่างๆ ในเอกสารของคณะกรรมการ ป.ป.ช. อีกครั้งหนึ่ง

ซึ่งต่อมาได้นำไปสู่การออกคำสั่งมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ 2090/2566 ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ซึ่งต่อมา คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงได้สรุปผลการสอบข้อเท็จจริงและรายงานต่อ คณะกรรมการ ก.บ.ม. ว่า กรณีดังกล่าวมีมูลเข้าข่ายการกระทำความผิดทางวินัย เห็นควรดำเนินการทางวินัยต่อไป

3.เมื่อคณะกรรมการบริหารงานบุคคลมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้รับรายงานจากคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงแล้ว จึงได้มีคำสั่งมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ 4205/2566 ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง กรณี อนุมัติให้ผู้บริหารยืม Ipad ไปใช้โดยมีกำหนดส่งคืนเมื่อครบวาระ มีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้บริหารสามารถนำ Ipad ไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวผิดจากวัตถุประสงค์แห่งการยืมและขัดต่อระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560

ซึ่งในระหว่างนี้ ยังอยู่ในขั้นตอนของการสอบสวนพิจารณาทางวินัยตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอนในการสอบสวนพิจารณาทางวินัย พ.ศ. 2564 อาจารย์ท่านนั้น สามารถใช้สิทธิในการชี้แจงข้อจริงหรือแก้ต่างข้อกล่าวหาดังกล่าวต่อคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงที่มหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งขึ้นมาได้

4.จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น มหาวิทยาลัยรามคำแหงมิได้ดำเนินการกลั่นแกล้งหรือกระทำการใด ๆ ที่ไม่ให้ความเป็นธรรมต่อ อาจารย์ท่านดังกล่าว หากแต่การออกมาเคลื่อนไหวผ่านสื่อมวลชนโดยกล่าวหาว่ามหาวิทยาลัยหรือผู้บริหารมหาวิทยาลัยกลั่นแกล้งตนเองนั้นอาจเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายทั้งทางวินัย ทางแพ่ง และทางอาญา

อนึ่ง มหาวิทยาลัยรามคำแหงขอกราบเรียนชี้แจงผ่านสื่อมวลชนว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยได้พยายามดำเนินการให้เกิดความรักความสามัคคีภายในองค์กร เพื่อจักได้ร่วมกันพัฒนามหาวิทยาลัยให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ