ปรับสูตรวัคซีนใหม่ – นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุข แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ผ่านการไลฟ์สดทางเฟซบุ๊ก ว่า จากการมีมาตรการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 จึงมีการแถลงข่าวแบบออนไลน์ โดยสถานการณ์โควิด-19 ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ยังน่าเป็นห่วง ยังพบผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง จากการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า และแพร่กระจายไปยังจังหวัด ซึ่งขณะนี้พบผู้ติดเชื้อประมาณ 1 หมื่นรายกว่าวัน หรือประมาณ 1 แสนกว่าราย ใน 2 สัปดาห์นี้ ส่งผลให้การอัตราการเสียชีวิตมากขึ้น จึงต้องมีมาตรการป้องกันโรคที่เข้มงวดและมีประสิทธิภาพ
มาตรการยาแรงที่ดำเนินการพร้อมกันในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด คือ ห้ามมีการรวมกลุ่มกันเกิน 5 คน ปิดสถานที่เสี่ยง จำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด ลดจำนวนขนส่งสาธารณะข้ามจังหวัดระยะไกล พยามยาให้พนักงาน ของเอกชนและรัฐ Work from Homeมากที่สุด และมีการปรับแผนฉีดวัคซีน ระดมฉีดให้แก่ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปให้ได้ 1 ล้านคนใน 2 สัปดาห์นี้
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบ 4 ประเด็นต่อการควบคุมโรคโควิด-19 คือ
1. การฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Booster Dose) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า โดยห่างจากเข็ม 2 นาน 3-4 สัปดาห์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันให้สูงและเร็วที่สุด เพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติงานด่านหน้า
2. การให้ฉีดวัคซีนโควิดสลับ 2 ชนิด เข็ม 1 เป็นวัคซีนซิโนแวค และเข็ม 2 เป็นแอสตร้าเซเนก้า โดยห่างจากเข็มแรกนาน 3-4 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา ซึ่งจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสให้อยู่ในระดับที่สูงได้เร็วมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อผู้รับวัคซีน
3. มีมติเห็นชอบในแนวทางการใช้ Antigen Test Kit ในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงการตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยใช้ Antigen Test Kit ซึ่งจะอนุญาตให้สามารถตัวหาเชื้อเองที่บ้านในเร็วๆนี้ เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อ
4. แนวทางการแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) และการแยกกักในชุมชน (Community Isolation) สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีเงื่อนไขเหมาะสม หรือไม่สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลได้ รวมทั้งการแยกกักในชุมชนในกรณีการติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชนเป็นจำนวนมาก โดยมีกระบวนการติดตามอาการอย่างใกล้ชิดจากสถานพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อความปลอดภัยและเป็นมาตรฐานในการดูแลรักษา เช่น มีเทอร์โมมิเตอร์วัดไข้ เครื่อง Oximeter วัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด และยารักษาโรค โดยมอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร นำเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป นอกจากนี้ ยังรับทราบแนวทางการจัดทีมดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวหรือกลุ่มผู้ป่วยที่ออกจากโรงพยาบาลมาพักฟื้นที่บ้าน ในพื้นที่ กทม.