ประวัติ “พระสีวลีเถระ” พระอรหันต์แห่งโชคลาภ จุดเริ่มต้นตำนาน “นางกวัก” เทพีแห่งการค้าขายร่ำรวย มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล
พระสีวลีเถระ เป็นพระโอรสของพระนางสุปปวาสา ผู้เป็นพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงโกลิยะ อยู่ในพระครรภ์ถึง 7 ปี 7 เดือน 7 วัน เมื่อทรงพระครรภ์ทำให้พระมารดาสมบูรณ์ด้วยลาภสักการะมาก เมื่อประสูติก็ประสูติง่ายดาย พุทธานุภาพที่ทรงพระราชทานพรว่า “ขอพระนางสุปปวาสาจงมีความสุข ปราศจากโรคาพยาธิ ประสูติพระราชบุตรผู้ไม่มีโรคเถิด”
เมื่อประสูติและพระประยูรญาติขนานถวายพระนามว่า สีวลีกุมาร ในวันที่นิมนต์พระพุทธเจ้ามาเสวยภัตตาหารตลอด 7 วัน สีวลีกุมารก็ได้ถือธมกรกรองน้ำถวายพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ตลอด 7 วัน
เมื่อเจริญวัย ท่านได้ออกผนวชในสำนักพระสารีบุตร ได้บรรลุอรหันตผลในเวลาปลงเกศาเสร็จ จากนั้นมาท่านสมบูรณ์ด้วยลาภสักการะไม่ขาดด้วยปัจจัย 4 ทั้งปวง ด้วยเหตุนี้จึงได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ให้เป็นเอตทัคคะผู้เลิศในทาง ผู้มีลาภมาก
ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาไม่ระบุว่าท่านดับขันธปรินิพพานที่ใด แต่ท่านคงดำรงขันธ์อยู่พอสมควรแก่กาลจึงปรินิพพาน
ประวัติ “นางกวัก”
นางกวัก เป็นรูปเคารพนับถือกันเป็นอย่างมาก นางกวักมีรูปลักษณะสำคัญเป็นสตรีสมัยโบราณ ผมยาวประบ่า ห่มผ้าสไบเฉียง นุ่งผ้ายกดอก ประกอบด้วยพาหุรัด ทองกร และสร้อยสังวาล นั่งพับเพียบเรียบร้อยอยู่บนแท่นทอง หัตถ์ขวายกงอขึ้นในลักษณะท่ากวักมือ
ปลายนิ้วงอเข้าหาลำตัว การยกมือขึ้นในลักษณะกวัก ถ้ามือยกสูงระดับปาก มีความหมายว่า กินไม่หมด หากว่ามือที่กวักอยู่ต่ำกว่าระดับปาก เขาถือว่ากินไม่พอ หัตถ์ซ้ายส่วนมากจะถือถุงเงินและจารึกอักขระขอมเป็นหัวใจพระสีวลีผู้เป็นเอตทัคคะทางโชคลาภ คือ นะ ชา ลี ติ
เป็นที่กล่าวขานกันว่า “นางกวัก” สามารถดลบันดาลโชคลาภให้บังเกิดแก่ผู้กราบไหว้บูชา และทำมาค้าขึ้น ซื้อง่าย ขายคล่อง และมีเสน่ห์มหานิยมแก่ผู้พบเห็นอีกด้วย โดยเฉพาะในมวลหมู่ผู้มีอาชีพค้าขาย ด้วยเชื่อว่านามของ นางกวัก มีความหมายในทางทำมาหากินคล่องเจริญก้าวหน้า ตามร้านค้าจึงพบเห็นรูปนางกวักบนหิ้งบูชา หรือแม้กระทั่งรถเข็นค้าขายในตะกร้าเก็บสตางค์ หรือมุมเล็กๆ ต้องมีรูปนางกวักอยู่ด้วยเสมอ เป็นความเคยชินในสังคมไทยมาช้านาน
ครั้งพุทธกาล แม่นางกวักนั้นเดิมมีชื่อว่า นางสุภาวดี เกิดที่มิจฉิกาสัณฑนคร ใกล้กรุงสาวัตถี ในชมพูทวีป เป็นธิดาของสุจิตต์พราหมณ์ กับมารดาชื่อสุมณฑา พราหมณ์ทั้ง 2 มีอาชีพค้าขายสินค้าเล็กๆน้อยๆ พอได้เลี้ยงครอบครัว ต่อมาทั้งสองมีความคิดจะขยายกิจการค้าขายของตน จึงได้ซื้อเกวียนเพื่อจะได้เดินทางไปค้าขายได้ทั่วเมือง มิจฉิกาสัณฑนคร ในการเดินทางไปขายของนางสุภาวดีได้ขอติดตามไปค้าขายกับทั้งสองด้วย
ในระหว่างเดินทางนั้น นางสุภาวดีได้มีโอกาสฟังธรรมจากพระมหากัสสปะเถระขณะจาริกแสดงธรรมเทศนาตามหมู่บ้าน นางรู้สึกซาบซึ้งพระธรรมจนเข้าถึงพระรัตนตรัย เมื่อพระมหากัสสปะเถระเห็นนางเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเช่นนั้นจึงได้ประสิทธิ์ประสาทพรให้นางและครอบครัวให้เจริญรุ่งเรืองด้วยทรัพย์สินเงินทองจากอาชีพค้าขายและประสาทพรเช่นนี้ทุกครั้งเมื่อนางสุภาวดีมาฟังธรรม
ต่อมานางสุภาวดีไปค้าขายอีกเมืองมีโอกาสได้ฟังธรรมจากพระสีวลีเถระ ที่จาริกไปแสดงธรรม จนนางมีความรู้แตกฉานในหลักธรรม และได้รับเมตตาจากพระสีวลีเถระเช่นเดียวกับที่ได้จากพระมหากัสสปเถระเช่นกัน … พระสีวลีเถระเป็นพระอรหันต์ที่ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเอตทัคคะผู้เลิศในทางผู้มีลาภมาก เมื่อกำหนดจิตให้พรแก่นางสุภาวดีจึงทำให้มีอานุภาพมาพรของท่านจึงมีพลังเป็นพิเศษ
ด้วยบุญบารมีและพรที่นางสุภาวดีได้รับจากพระอรหันต์ จึงทำให้เวลานางติดเกวียนไปค้าขายกับบิดามารดาทำให้ค้าขายคล่อง มีความเจริญรุ่งเรืองได้แก้วแหวนเงินทองมาตามลำดับ และต่อมาเมื่อนางไม่ได้ติดเกวียนไปกับบิดามารดา ก็แตกต่างคือค้าขายไม่คล่องเหมือนเดิม จึงพานางสุภาวดีติดเกวียนไปด้วย ทำให้การค้าขายเจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆจนถึงขั้นเศรษฐีมีฐานะมั่งคงขึ้นไปอีก
ในที่สุดสุจิตต์พราหมณ์กับนางสุมณฑาบิดามารดาของนางสุภาวดีเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเนื่องจากได้เข้าเฝ้าฟังธรรมจากพระพุทธองค์จนได้โสดาปัตติผล จึงได้ถวายอุทยานส้รางเป็นที่พักสงฆ์ และสร้างวิหารใหญ่กลางอุทยานนั้นถวายเป็นวัด ชื่อว่า วัดมัจฉิกาสัณฑาราม และนิมนต์พระสุธรรมเถระ มาเป็นเจ้าอาวาส
กาลต่อมาเมื่อเมื่อนางสุภาวดีแก่ชรา จนละสังขารไปแต่คุณงานความดีและความขลังความศักดิ์สิทธิ์ของนางยังคงเป็นที่เล่าขาน ใครต้องการค้าขาย ต้องการความร่ำรวย จึงมีการสร้างรูปปั้น รูปเคารพ ขึ้นมาและเชิญดวงวิญญาณของนางมาสถิตย์ในรูปปั้น จนทำให้การบูชานางสุภาวดีแพร่หลายกวางไกลออกไปเรื่อยๆ
ต่อมาเมื่อลัทธิพราหมณ์และพุทธศานาแพร่หลายเข้ามาในสุวรรณภูมิ และคติความเชื่อและบูชานางสุภาวดีก็เข้ามาด้วย โดยจำลองเป็นรูปหญิงสาวท่าที่นั่งบนเกวียนและทำเป็นรูปกวักมือประหนึ่งเรียกคน เรียกโชคลาภ แก้วแหวนเงินทองเข้ามาสู่ร้านค้าและเคหะสถานบ้านเรืองของผู้เคารพบูชาในสถานที่นั้น จึงเรียนนางสุภาวดีนั้นว่า “นางกวัก” ในปัจจุบัน และผสมผสานความชื่อของไทยเข้าไปในรูปปั้นรูปเคารพโดยการใส่ปลาเงินปลาทอง ไซดักเงินดักทอง มือถือถุงเงิน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งแก้วแหวนเงินทองและความอุดมสมบูรณ์เป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้คนในการใช้ชีวิตการทำมาค้าขาย ทำมาหากิน เป็นเมตตามหานิยมเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ มาจนถึงทุกวันนี้