ครม. มีมติโอนอำนาจจากกฎหมาย 31 ฉบับให้นายกฯ ชั่วคราว เพื่อควบคุมสั่งการแก้ไขวิกฤตโควิดได้อย่างเบ็ดเสร็จ
วานนี้ (27 เม.ย.) นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 3) ให้บรรดาอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมาย หรือที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย หรือที่มีอยู่ตามกฎหมายโอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกฯ เป็นการชั่วคราวเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟู ช่วยเหลือประชาชน จำนวน 31 ฉบับ
เพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่
(1) พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558
(2) พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510
(3) พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561
(4) พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456
(5) พระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497
(6) พระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560
(7) พระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551
(8) พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไชเบอร์ พ.ศ. 2562
(9) พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535
(10) พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522
(11) พระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542
(12) พระราชบัญญัติควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2495
(13) พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530
(14) พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551
(15) พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522
(16) พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551
(17) พระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ. 2558
(18) พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550
(19) พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
(20) พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522
(21) พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497
(22) พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
(23) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550
(24) พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544
(25) พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542
(26) พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509
(27) พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541
(28) พระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559
(29) พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545
(30) พระราชบัญญัติองค์การเภสัชกรรม พ.ศ. 2509 และ
(31) พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522
ทั้งนี้ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศปก.ศบค. เป็นผู้เสนอให้ยกเลิกประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 26 พ.ค. 63 และให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 3) ดังกล่าวนี้
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาช่วงเย็นของวานนี้ ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศดังกล่าวซึ่งลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ และระบุให้มีผลบังคับใช้ทันที
ครม. รับทราบรายงานการเงินแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ 2563
นอกจากนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยอีกว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานการเงินแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ซึ่งผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน แล้ว ซึ่งนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอรัฐสภาต่อไป ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 75 ณ วันสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
โดยรัฐบาลมีสินทรัพย์ รวมทั้งสิ้นจำนวน 7,951,674.99 ล้านบาท หนี้สินและภาระผูกพัน รวมทั้งสิ้นจำนวน 7,434,034.96 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลมีสินทรัพย์สุทธิ จำนวนทั้งสิ้น 517,640.03 ล้านบาท รัฐบาลมีรายได้รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,564,392.65 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน จำนวน 111,833.72 ล้านบาท ประกอบด้วย รายได้แผ่นดินจากหน่วยงาน เงินนำส่งจากหน่วยงาน และเงินปันผลของแผ่นดิน ส่วนเกินมูลค่าพันธบัตรตัดจำหน่าย กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน และรายได้อื่น
รัฐบาลมีค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น จำนวน 3,502,819.73 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน จำนวน 481,585.98 ล้านบาท ประกอบด้วยรายจ่ายจากเงินงบประมาณจากหน่วยงาน ค่าใช้จ่ายตามมาตรการของรัฐ ค่าใช้จ่ายอุดหนุนหน่วยงานภาครัฐ และค่าใช้จ่ายอื่น
ผลจากการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ จำนวน 938,427.08 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดคงเหลือ ณ วันปลายงวด 30 กันยายน จำนวน 611,381.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 73,956.64 ล้านบาท และ เงินคงคลังในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มีรายรับสูงกว่ารายจ่าย จำนวน 58,149.24 เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 179,630.56 ล้านบาท
รายงานการเงินรวมภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ประกอบด้วย งบแสดงฐานะการเงิน และงบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงินของรัฐบาล หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และ อปท.สิ้นสุด ณ 30 ก.ย. 63 กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง สรุปงบแสดงฐานะการเงิน สินทรัพย์รวมทั้งสิ้น จำนวน 31,334,122.36 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,720,311.51 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของที่ดินราชพัสดุ เงินลงทุนระยะยาวภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และสินทรัพย์ของสถาบันการเงินของรัฐ
หนี้สินรวมทั้งสิ้น จำนวน 21,742,324.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,156,675.61 ล้านบาท ประกอบด้วยรายการที่สำคัญคือ หนี้สินไม่หมุนเวียน จำนวน 10,365,395.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 521,235.03 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.29 เนื่องจากเกิดสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 รัฐบาลจึงมีมาตรการในการแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19
งบแสดงผลการดำเนินงานการเงิน รายได้รวมทั้งสิ้น จำนวน 7,080,230.85 ล้านบาท ลดลง 953,688.67 ล้านบาท ประกอบด้วยรายการที่สำคัญ คือ รายได้แผ่นดิน จำนวน 2,142,257.85 ล้านบาท ลดลง 210,685.63 ล้านบาท จากการเกิดสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ระบบเศรษฐกิจเกิดการหดตัว ส่งผลกระทบให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการและภาษีจากสินค้าและบริการลดลง
ทั้งนี้ นายอนุชา กล่าวสรุปว่า ผลการดำเนินงานทางการเงินในภาพรวมของรัฐ ลดลงจากปีก่อนเนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 เมื่อนำผลการดำเนินงานทางการเงินของหน่วยงานของรัฐอื่นๆ มารวมกับผลการดำเนินงานของรัฐบาล จะมีผลการดำเนินงานทางการเงินสุทธิดีขึ้น เนื่องจากหน่วยงานของรัฐมีการจัดเก็บรายได้อื่นที่ไม่ต้องส่งคลัง
เช่น กองทุน มหาวิทยาลัย และองค์การมหาชน เป็นต้น รวมทั้งผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจที่มีผลประกอบการที่ดีเป็นบวก จะทำให้ภาพรวมของภาครัฐมีรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ ทั้งสิ้น 39,229.32 ล้านบาท รวมทั้งรัฐบาลจะให้ความสำคัญในการจัดเก็บรายได้ โดยจะเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ดินราชพัสดุ เพื่อนำสินทรัพย์ของภาครัฐมาสร้างรายได้ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้นอีกด้วย