สุลต่านอิบราฮิม อิสกันดาร์จากรัฐยะโฮร์ ได้รับเลือกจากสมาชิกราชวงศ์ให้ดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐพระองค์ถัดไป ขึ้นครองราชย์ 31 มกราคม 2024
รอยเตอร์รายงานแถลงการณ์จากสมุหพระราชลัญจกร (keeper of the rulers’ seal) ที่ระบุว่า สุลต่านอิบราฮิม จะขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระราชาธิบดีอัล-สุลต่าน อับดุลลาห์ ในวันที่ 31 มกราคม 2024
สุลต่านอิบราฮิม เป็นที่รู้จักในฐานะผู้เป็นเจ้าของคอลเลคชันรถยนต์และรถจักรยานยนต์หรู และยังมีความสนใจทางธุรกิจหลากหลายตั้งแต่ด้านอสังหาริมทรัพย์ไปจนถึงการทำเหมือง
มาเลเซียมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา อันมีพระราชาธิบดีเป็นประมุขที่มีเอกลักษณ์ โดยจะให้ตัวแทนจากตระกูลสุลต่าน 9 ตระกูลผลัดกันขึ้นเป็นประมุขแห่งรัฐ และจะดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี
โดยมากแล้วพระราชาธิบดีเป็นเพียงผู้นำในทางสัญลักษณ์และมีพระราชอำนาจเพียงจำกัด และต้องได้รับการแนะนำจากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเสียก่อนที่จะกระทำการใด ๆ ตัวอย่างของพระราชอำนาจของพระราชาธิบดีก็คืออำนาจในการเลือกนายกฯ และการพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษ
ภาวะไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองหลังการพ่ายแพ้ของพรรค UMNO เมื่อปี 2018 ทำให้สถาบันกษัตริย์มาเลเซียมีอิทธิพลมากขึ้น เนื่องจากมีโอกาสในการใช้พระราชอำนาจ
สำหรับพระราชาธิบดีอัล-สุลต่าน ถือว่ามีบทบาททางการเมืองมากกว่าปกติ เนื่องจากเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรีถึง 3 คนในช่วงที่ครองราชย์ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วนายกฯ มักได้มาจากผลการเลือกตั้ง
เมื่อปี 2018 พระราชาธิบดีมูฮัมหมัดที่ 5 ประมุขพระองค์ก่อน ก็เคยใช้อำนาจพระราชทานอภัยโทษให้กับอันวาร์ อิบราฮิม แกนนำพรรคฝ่ายค้านที่ถูกจำคุกจากคดีร่วมเพศทางทวารหนัก ที่ถูกมองว่ามีแรงจูงใจทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง
อดีตนายกฯ นาจิบ ราซัก ที่ถูกจำคุกไปในปีที่แล้วจากเหตุคดีฉ้อโกงกองทุน 1 MDB ก็ได้ยื่นขอพระราชทานอภัยโทษแล้ว ซึ่งพระราชาธิบดีก็มีอำนาจที่จะวินิจฉัยได้เช่นกัน