สืบเนื่องจากข่าวการเสียชีวิตที่น่าสลดใจ หลังจากที่มีรายงานว่า วันนี้ (21 พฤศจิกายน 2566) พลเอก สพรั่ง กัลยาณมิตร หรือ บิ๊กพรั่ง ซึ่งเคยเป็นอดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม และอดีตแม่ทัพภาคที่ 3 โดย บิ๊กพรั่ง นั้นเป็นหนึ่งใน คณะก่อการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด ซึ่งมีกำหนดการสวดอภิธรรม และฌาปนกิจ วันที่ 23 -27 พฤศจิกายน 2566 ณ วัดพระศรีมหาธาตุบางเขน กรุงเทพมหานครฯ
พลเอก สพรั่ง กัลยาณมิตร เป็นชาวจังหวัดลำปาง เกิดวันที่ 8 กรกฎาคม 2491 เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 7 จากนั้นศึกษาจบนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 18 และนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 43 ต่อมาได้เข้าศึกษาจนจบปริญญาโท การจัดการภาครัฐและเอกชนมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการภาครัฐและเอกชน สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
ชีวิตสมรส พลเอก สพรั่ง กัลยาณมิตร แต่งงานกับ วิภาดา กัลยาณมิตร ปัจจุบันภรรยาเป็นคณะกรรมการสมาคมแม่บ้านทหารบก ทั้งคู่มีลูกชายด้วยกันทั้งหมด 3 คน คือ
- พันตรี เอกวีร์ กัลยาณมิตร
- นาวาอากาศโท อัครวัต กัลยาณมิตร
- เรืออากาศโท เอกวริษฐ์ กัลยาณมิตร
ประวติการทำงาน ก่อน-หลัง รัฐประหาร
พลเอก สพรั่ง เริ่มรับราชการครั้งแรกในตำแหน่งผู้บังคับหมวดปืนเล็กร้อยอาวุธเบา กองพันทหารราบที่ 3 กรมผสมที่ 4 ปี (2512) โดยเจ้าตัวเคยอยู่ในสถานการณ์สำคัญของชาติด้านความมั่นคงทั้งในและต่างประเทศหลายครั้ง
- เคยเป็นผู้บังคับกองพัน ทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 4 ปี (2525)
- ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 19 ปี (2528)
- ผู้บังคับการกรม นักเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร (2533)
- ผู้บังคับการกรม นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (2534)
- นายทหารฝ่ายเสนาธิการ ประจำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (เมษายน, 2540)
- ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 (ตุลาคม, 2540)
- แม่ทัพน้อยที่ 3 (2546)
- แม่ทัพภาคที่ 3 (1 ตุลาคม 2548)
และขึ้นเป็น ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผช.ผบ.ทบ.) ปลายปี 2549 หลังการยึดอำนาจในการ รัฐประหาร 19 กันยายน ปี 2549 ที่ผ่านมา หลังจากนั้น พลเอก สพรั่ง ถูกโยกเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม และในตอนนั้นพลาดหวังจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) จากนั้น เกษียณก็อายุราชการ และเก็บตัวเงียบมาโดยตลอด จนกระทั่งเสียชีวิตอย่างสงบด้วยวัย 75 ปี โดยโรคมะเร็งปอดนั้นเอง
ซึ่งในเหตุการณ์ ยึดอำนาจรัฐประหาร พ.ศ. 2549 เหตุการณ์ในคืนวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมีพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ โค่นรักษาการนายกรัฐมนตรี พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นับเป็นรัฐประหารในรอบ 15 ปี รัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในเดือนต่อมา
หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปที่มีกำหนดจัดในเดือนเมษายนถูกสั่งให้เป็นโมฆะ นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ดำเนินมานับแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2548 คณะรัฐประหารยกเลิกการเลือกตั้งซึ่งกำหนดจัดในเดือนตุลาคม ยกเลิกรัฐธรรมนูญ สั่งยุบรัฐสภา สั่งห้ามการประท้วงและกิจกรรมทางการเมือง ยับยั้งและตรวจพิจารณาสื่อ ประกาศใช้กฎอัยการศึก และจับกุมสมาชิกคณะรัฐมนตรีหลายคน