บิ๊กตู่ เอาจริง! ปราบฉ้อโกงออนไลน์ สั่งดีอีเอสเร่งแก้ไข ขีดเส้น 30 วันรายงานผล

Home » บิ๊กตู่ เอาจริง! ปราบฉ้อโกงออนไลน์ สั่งดีอีเอสเร่งแก้ไข ขีดเส้น 30 วันรายงานผล


บิ๊กตู่ เอาจริง! ปราบฉ้อโกงออนไลน์ สั่งดีอีเอสเร่งแก้ไข ขีดเส้น 30 วันรายงานผล

รัฐบาลเอาจริง ปราบฉ้อโกงออนไลน์ มอบดีอีเอสเร่งแก้ไข ติดตามการดำเนินคดีผู้กระทำผิด ขีดเส้น 30 วันรายงานนายกฯ พร้อมหนุนป้องเยาวชนจากภัยออนไลน์

เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาการฉ้อโกงและหลอกลวงประชาชน ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบของการเงินนอกระบบ เช่น แชร์ลูกโซ่ การเล่นแชร์ และการขยายตรง การพนันออนไลน์ รวมทั้งการหลอกลวงผ่านคอลเซ็นเตอร์

โดยคนร้ายมักปรับรูปแบบ วิธีฉ้อโกง และหลอกลวงให้เหยื่อหลงเชื่อ ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนสูญเสียทรัพย์สินจำนวนมาก ทั้งนี้ รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้กำชับหน่วยงานเกี่ยวข้องต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหา ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำผิด และหากมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องในขบวนการทำผิดนั้น จะต้องลงโทษเด็ดขาด

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังได้หารือถึงปัญหาดังกล่าว และมีมติให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งขอความร่วมมือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการเร่งรัดดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เกิดเป็นรูปธรรม และให้เร่งติดตามการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดให้แล้วเสร็จโดยเร็วด้วย

รวมถึงให้กระทรวงดีอีเอส รวบรวมผลการดำเนินการและรายงานต่อนายกฯ ภายใน 30 วัน ซึ่งนายชัยวุฒิ ธนาคมนุสรณ์ รมว.ดีอีเอส ได้เชิญหน่วยงานเกี่ยวข้อง อาทิ ดีเอสไอ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.สอท.) หรือตำรวจไซเบอร์ สตช. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง เข้าร่วมประชุมหารือแนวทางเร่งรัด และแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์อย่างเร่งด่วน

“ที่ประชุมเน้นย้ำถึงการแก้ไขปัญหาหลอกลวงทางการเงิน 5 ด้าน ประกอบด้วย แก๊งคอลเซ็นเตอร์, แชร์ลูกโซ่-ระดมทุนออนไลน์, การพนันออนไลน์, บัญชีม้า และการหลอกหลวงซื้อขายสินค้าบริการออนไลน์ ซึ่งปัญหาเหล่านี้มีการแจ้งความจำนวนมาก ตั้งแต่ มี.ค.-ต.ค.65 มีจำนวน 110,000 คดี สร้างความเสียหาย 10,000 ล้านบาท” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นอกจากปัญหาการฉ้อโกงประชาชนแล้ว รัฐบาลยังได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันภัยออนไลน์ที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน เนื่องจากมีการศึกษาและผลสำรวจของหน่วยงานต่างๆ ออกมาสะท้อนว่า เยาวชนอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายจากโลกออนไลน์มากขึ้น อาทิ พบว่าเด็กและเยาวชนใช้สื่อออนไลน์เพิ่มขึ้นและด้วยอายุที่น้อยลงเรื่อยๆ อาจเผชิญกับเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม หรือผิดกฎหมาย จนอาจมีผลต่อพัฒนาการตามช่วงวัยที่ไม่เหมาะสม ส่งผลกระทบทางลบทั้งทางกาย จิตใจ สติปัญญา กระทั่งอาจเกิดความสูญเสียที่ไม่คาดคิด

“ปัญหาดังกล่าว นายกฯ มอบหมายหน่วยงานเกี่ยวข้องให้ประสานการทำงาน ทั้งรัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม และสื่อต่างๆ ร่วมกันสร้างเครือข่ายในการป้องกันผลกระทบต่อเด็กจากสื่อออนไลน์ พัฒนาการเรียนรู้ที่เท่าทัน ส่งเสริมให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู เพื่อดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ตลอดจนสนับสนุนให้มีการพัฒนากฎหมายว่าด้วยการกระทำผิดต่อเด็กผ่านสื่อออนไลน์ ให้มีประสิทธิภาพมาขึ้น” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ