บาร์เบโดส ได้ถอดสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองแห่งสหราชอาณาจักร ออกจากการเป็นประมุขของรัฐ และกลายเป็นประเทศล่าสุดของโลกที่เปลี่ยนแปลงการปกครองสู่การเป็นสาธารณรัฐ
พิธีการนี้มีขึ้นในช่วงเข้าสู่เวลาเที่ยงคืนของวันที่ 30 พ.ย. โดยมีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ ในกรุงบริดจ์ทาวน์ ซึ่ง เดม ซานดรา เมสัน ได้สาบานตนขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนแรก ถือเป็นการสิ้นสุดการปกครองในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) อย่างเป็นทางการ
ในงานซึ่งมีขึ้นตรงกับวาระครบรอบ 55 ปี ที่บาร์เบโดสได้รับเอกราชจากอังกฤษ มีบุคคลสำคัญเข้าร่วมมากมาย อาทิ รีแอนนา ศิลปินชื่อดังชาวบาร์เบโดส และเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษ ที่ตรัสยืนยันถึงสายสัมพันธ์ระหว่างสองชาติแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงสถานะในรัฐธรรมนูญ ซึ่งพระองค์เปรียบว่าเป็นการเริ่มต้นใหม่
ขณะเดียวกันเจ้าชายแห่งเวลส์ได้ตรัสยอมรับถึง “ระบบทาสอันโหดร้าย” ที่บาร์เบโดสเคยเผชิญมาในอดีตจากน้ำมือของจักรวรรดิอังกฤษ
- โลกนี้ยังเหลือ “ราชอาณาจักร” อีกกี่แห่ง
- สำรวจกฎหมายหมิ่นกษัตริย์ในยุโรปและเอเชีย
- มองราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญอังกฤษ
ส่วนสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองทรงส่ง “ความปรารถนาดีอย่างจริงใจที่สุด” ให้บังเกิด “ความผาสุก สันติภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในอนาคต” แก่บาร์เบโดส พร้อมตรัสว่า ประเทศนี้จะ “มีที่พิเศษ” อยู่ในใจของพระองค์
เดม ซานดรา เมสัน วัย 72 ปี ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของบาร์เบโดส มาตั้งแต่ปี 2018 และได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีในการลงมติในรัฐสภาเมื่อเดือนที่แล้ว ทำให้เธอขึ้นเป็นประมุขของชาติแทนที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง
“รัฐนาวาแห่งสาธารณรัฐบาร์เบโดสได้ออกเดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์ ขอให้เธอจงรอดพ้นจากพายุทั้งปวง แล้วนำพาประเทศชาติและพลเมืองของเราไปสู่ขอบฟ้าและชายฝั่งที่อยู่เบื้องหน้าเราอย่างปลอดภัย” ผู้นำคนใหม่ของบาร์เบโดสกล่าวระหว่างการสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง
ในพิธีนี้ มีอา มอตต์เลย์ นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของบาร์เบโดส ได้กล่าวสาบานตนแสดงความจงรักภักดีต่อประเทศต่อหน้าประธานาธิบดี
หลังจากนั้นมีการประกาศให้ รีแอนนา นักร้องดังชาวบาร์เบโดส เป็น “วีรบุรุษของชาติ” โดยก่อนหน้านี้เธอเคยได้รับเลือกให้เป็นทูตของบาร์เบโดสมาแล้วในปี 2018
บาร์เบโดส เป็นหนึ่งในอาณานิคมทาสแห่งแรก ๆ ของจักรวรรดิอังกฤษ โดยชาวอังกฤษกลุ่มแรกได้เข้าไปยึดครองเกาะนี้ในปี 1627 แล้วเปลี่ยนให้บาร์เบโดสเป็นแหล่งปลูกอ้อยเพื่อผลิตเป็นน้ำตาล โดยใช้แรงงานทาสที่นำมาจากแอฟริกา
บาร์เบโดสได้ยกเลิกระบบทาสในปี 1834 และได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์ในปี 1966 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสาธารณรัฐในครั้งนี้ ทำให้บาร์เบโดสเป็นอดีตชาติอาณานิคมอังกฤษล่าสุดในรอบเกือบ 30 ปีที่ถอดสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองออกจากตำแหน่งประมุขของรัฐ หลังจากมอริเชียสดำเนินการเมื่อปี 1992
บาร์เบโดสประกาศแผนจะเปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นสาธารณรัฐเมื่อปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ยังยืนยันที่จะเป็นสมาชิกในเครือจักรภพต่อไป
เครือจักรภพแห่งประชาชาติ (Commonwealth of Nations) ซึ่งมีชื่อเดิมว่า เครือจักรภพบริเตน (British Commonwealth) เป็นสมาคมของอดีตชาติอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ และประเทศที่แยกตัวเป็นเอกราชแล้ว รวมทั้งบางประเทศที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์กับอังกฤษ
บาร์เบโดสซึ่งมีประชากรราว 285,000 คน ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรหนาแน่นและมีความเจริญรุ่งเรืองมาก เมื่อเทียบกับบรรดาประเทศหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน
ในอดีต ประเทศนี้ต้องพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำตาลเป็นหลัก แต่เศรษฐกิจในปัจจุบันมีความปลากหลายขึ้น อย่างไรก็ตาม การระบาดของโควิด-19 ได้สงผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจการท่องเที่ยวของบาร์เบโดส รวมทั้งยังต้องเผชิญปัญหาราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้นจากความชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน
…………..
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว