บังกลาฯเริ่มโอด ยอมรับแบกโรฮิงยาล้านชีวิต-สั่นคลอนเสถียรภาพประเทศ
บังกลาฯเริ่มโอด – วันที่ 12 ก.ย. เอพีรายงานว่า นางชีก ฮาสินา นายกรัฐมนตรีหญิงของบังกลาเทศยอมรับว่าการแบกรับผู้อพยพชาวโรฮิงยาอย่างยืดเยื้อกำลังส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของชาติ
นางฮาสินา กล่าวว่า ชาวโรฮิงยานั้นเผชิญกับความทุกข์ยากแสนสาหัส ทว่า การแบกรับผู้อพยพเป็นระยะเวลายาวนานยืดเยื้อนั้นกำลังสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และเสถียรภาพสังคมของบังกลาเทศอย่างใหญ่หลวง
การยอมรับของนางฮาสินาข้างต้นเกิดขึ้นในช่วงการกล่าวสุนทรพจน์ของพิธีเปิดงานสัมนาการบริหารจัดการกองทัพภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก ที่กรุงธากา เมืองหลวงบังกลาเทศ โดยมีทางการสหรัฐอเมริกา เป็นประธานการร่วมการสัมนาพร้อมตัวแทนเหล่าทัพของอีก 24 ประเทศ
แม้ประเด็นหลักของงานสัมนาจะเป็นการหารือด้านภารกิจรับมือกับภัยธรรมชาติ อาชญากรรมข้ามชาติ ปัญหาด้านความมั่นคงในภูมิภาคและการส่งเสริมบทบาทของสตรีภายในกองทัพ แต่บังกลาเทศใช้เวทีดังกล่าวในการหยิบยกประเด็นเรื่องความเดือดร้อนของชาวโรฮิงยาที่สืบเนื่องมาจากปัญหาความรุนแรงในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา (พม่า) ด้วย
สำหรับชาติที่ส่งตัวแทนเข้าร่วมงานสัมนานั้น อาทิ สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย อินเดีย จีน และเวียดนาม โดยทั้งหมดจะเดินทางไปยังเมืองค็อกส์ บาซาร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของค่ายผู้อพยพเพื่อเก็บข้อมูลความเป็นอยู่ของชาวโรฮิงยาด้วย
พลเอกชาฟิอุดดิน อาห์เหม็ด ประธานเสนาธิการกองทัพบังกลาเทศ กล่าวว่า บรรดาผู้แทนของเหล่าทัพชาติต่างๆ จะมีกำหนดเดินทางไปเยี่ยมชมค่ายผู้อพยพเพื่อให้ทุกฝ่ายซาบซึ้งถึงสถานการณ์ความทุกข์ยากของชาวโรฮิงยา
รายงานระบุว่า ค่ายอพยพชาวโรฮิงยาที่มีผู้อยู่อาศัยอยู่กว่า 7 แสนคนนั้นเพิ่งมีอายุครบ 5 ปี เมื่อเดือนส.ค. ที่ผ่านมา โดยทั้งหมดอพยพหนีตายมาจากรัฐยะไข่ของพม่าหลังกองทัพพม่าเปิดปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่ อ้างว่าเพื่อกวาดล้างกลุ่มก่อการร้าย
ปริมาณผู้อพยพมหาศาลดังกล่าวรวมกับชาวโรฮิงยาที่เคยอพยพมาเดิมนั้นมีจำนวนกว่า 1 ล้านคนในบังกลาเทศ โดยนางฮาสินายอมรับว่า การส่งตัวกลับพม่านั้นเป็นหนทางเดียวที่เหลืออยู่แต่ยืนยันว่าจะไม่ใช้วิธีการบีบบังคับผู้อพยพ
ที่ผ่านมา ทางการบังกลาเทศเคยแสดงความอึดอัดใจหลังความพยายามส่งตัวชาวโรฮิงยากลับตามข้อตกลงกับทางการพม่าซึ่งมีทางการจีนเป็นคนกลางช่วยเจรจานั้นล้มเหลวถึง 2 ครั้ง โดยผู้อพยพไม่ยอมเดินทางกลับพม่า ให้เหตุผลว่าสถานการณ์ในพม่ายังรุนแรงเกินไป
ทั้งนี้ ปฏิบัติการทางทหารของกองทัพพม่าซึ่งเกิดขึ้นในสมัยที่นางออง ซาน ซูจี เป็นที่ปรึกษาแห่งชาติและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถูกสหประชาชาติและหน่วยงานสากลกล่าวหาว่าเข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงยา แต่รัฐบาลพม่าโดยนางซูจียืนกรานปฏิเสธ
คดีดังกล่าวยังถูกส่งไปยังศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศหรือไอซีซี ที่นครเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยศาลรับฟ้องแล้วแต่กระบวนการสืบสวนของอัยการศาลโลกยังไม่แล้วเสร็จ
ส่วนรัฐบาลที่มีนางซูจีของพม่าถูกกองทัพก่อเหตุยึดอำนาจหลังพรรคฝ่ายกองทัพแพ้เลือกตั้งไปเมื่อ 1 ก.พ. 2564 นำมาซึ่งภาวะมิคสัญญีทางการเมืองของพม่าที่ยังไม่จบสิ้น