มีเสียงจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หลายคนออกมาแสดงความเห็นถึงจุดยืนในการออกเสียงสนับสนุนเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ในการประชุมรัฐสภาที่จะมีขึ้น
โดยผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ต้องได้รับเสียงเห็นด้วยเกินครึ่งหนึ่งจากที่ประชุมร่วมรัฐสภา นั่นคือ 376 จาก 750 เสียง แบ่งเป็นส.ส. 500 เสียง และส.ว. 250 เสียง
ส.ว.บางท่านให้ความเห็นในทำนองว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะออกเสียงให้เกินครึ่งหนึ่ง และอย่ามาพึ่งส.ว. ทางที่ดีพรรคที่จะจัดตั้งรัฐบาลต้องไปหาเสียงจากส.ส.ด้วยกันให้ครบ 376 เสียง
หมายความว่าแม้พรรคอันดับหนึ่งจะรวบรวมเสียงส.ส.เกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็ใช่ว่าส.ว.จะเลือกให้เป็นนายกฯ
ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดว่าแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคการเมือง จะต้องได้เสียงสนับสนุนเกินครึ่งหนึ่งของ 2 สภา ซึ่งก็คือ 376 เสียงขึ้นไป
ขณะนี้พรรคการเมืองที่ได้ส.ส.จากการเลือกตั้งมากเป็นอันดับ 1 รวบรวมเสียงส.ส.ได้ 310 เสียง ยังขาดอีก 66 เสียง เพื่อสนับสนุนเป็นนายกฯ และจะนำไปสู่การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่บริหารประเทศ
อย่างไรก็ตาม หัวหน้าพรรคการเมืองที่ได้ส.ส.อันดับ 1 ยังยืนยันไม่กังวลเสียงส.ว. เพราะเป็นฉันทามติประชาชน การฝืนจะไม่มีประโยชน์กับฝ่ายใด เมื่อประชาชนมีฉันทามติผ่านการเลือกมาแล้วทุกฝ่ายต้องน้อมรับ
ทั้งยังเชื่อว่าท่าทีของส.ว.แต่ละคนไม่เหมือนกัน น่าจะมีไม่น้อยที่โหวตสนับสนุนตามเจตจำนงประชาชน
ต่อกรณีดังกล่าวจึงเกิดกระแสเรียกร้องอย่างกว้างขวางไปยัง 250 ส.ว. ซึ่งอาจจะไม่ทั้งหมด แต่อย่างน้อยอีก 66 เสียงตัดสินใจสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคอันดับ 1
แม้ในความจริงที่มา 250 ส.ว. และบทเฉพาะกาลให้ร่วมเลือกนายกฯ ก็เพื่อต้องการสืบทอดอำนาจของบุคคลในคณะรัฐประหาร แต่ขณะนี้บุคคลเหล่านั้นต่างพ่ายแพ้เลือกตั้ง จึงคาดหวังว่าส.ว.จะตระหนัก และเคารพการตัดสินใจของประชาชน
หรืออีกกรณีหากส.ว.ไม่สนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ ตามฉันทามติประชาชน ก็เริ่มมีเสียงเรียกร้องไปยังส.ส.บางส่วนที่ไม่ได้ร่วมรัฐบาลให้หันมาร่วมสนับสนุน
ทั้งหลายเหล่านี้ก็เพื่อรักษาหลักการทางประชาธิปไตย ยึดฉันทามติประชาชนเป็นที่ตั้ง หากยังต้องการมีที่ยืนในเวทีประชาธิปไตย และการเลือกตั้งครั้งต่อไป