ปลายเดือนมิถุนายน นิด้าโพลเปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง คะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 2/2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แชมป์เก่าหล่นมาอยู่อันดับ 4 ตามหลัง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์
ล่าสุดวันอาทิตย์ที่ผ่านมา สำนักโพลดังกล่าวเปิดเผยอีกครั้งถึงผลสำรวจ หัวข้อ “8 ปี นายกรัฐมนตรีกับอนาคตทางการเมืองของ 3 ป.”
ต่อข้อถามถึงการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับความไม่ชัดเจนของรัฐธรรมนูญ เรื่องวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 8 ปี พบร้อยละ 64.25 ระบุ นายกฯ ควรประกาศว่า 8 ปีคือ อยู่ในตำแหน่งไม่เกิน 24 สิงหาคม 2565
รองลงมาร้อยละ 32.93 ระบุ ควรรอให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน และร้อยละ 2.82 ระบุ ไม่ทราบ ไม่ตอบ ไม่สนใจ
วาระนายกฯ 8 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ ที่จะครบวันที่ 24 สิงหาคมนี้ กำลังเป็นประเด็นการเมืองร้อน กลุ่ม 99 พลเมืองออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ลาออกก่อนถึงวันเส้นตาย
เช่นเดียวกับฝ่ายค้าน นักวิชาการหลายคนเสนอแนะ เพื่อความสง่างาม แม้ทางออกดีที่สุดคือประกาศยุบสภา จัดเลือกตั้งใหม่ คืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจก็ตาม
ยังมีผู้เรียกร้องให้เดินตามรอยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ แต่พล.อ.ประยุทธ์เพิกเฉย ยังคงฝากความหวังทั้งหมดไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญ
ขณะที่แกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวการเมืองประกาศนัดชุมนุมมวลชนวันที่ 23 สิงหาคมนี้ เพื่อส่งพล.อ.ประยุทธ์ ลงจากตำแหน่ง ย้ำว่าถ้าอยู่ต่อถือว่าเป็นนายกฯ เถื่อน เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่ ระบุชัดเจน
นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ไม่ว่าจะเป็นการอยู่ในตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่
พล.อ.ประยุทธ์ เข้าดำรงตำแหน่งนายกฯ ผ่าน 8 ปีเต็ม คือข้อเท็จจริง
รัฐธรรมนูญมาตรา 264 รับรองความต่อเนื่องนี้ไว้ “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”
การอยู่ต่อหลังวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ไม่เพียงขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ขัดความรู้สึกของประชาชน
ยังส่งผลสะเทือนถึงรัฐมนตรีทั้งคณะในการทำหน้าที่บริหารประเทศ มติที่ ประชุมครม. การทำสัญญาผูกพันกับองค์กรใดๆ ทั้งในและต่างประเทศ อาจมีปัญหาได้
การอยู่เพื่อรอคำตอบจากศาลรัฐธรรมนูญ เป็นข้ออ้างทำได้ แต่ระหว่างนั้นนายกฯ ควรยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวไว้ก่อนหรือไม่ จนกว่าศาลฯ จะมีคำวินิจฉัยชี้ขาด
เพื่อป้องกันความเสียหายในบ้านเมืองที่อาจเกิดขึ้น