บทบรรณาธิการ – เศรษฐกิจเลือกตั้ง

Home » บทบรรณาธิการ – เศรษฐกิจเลือกตั้ง


บทบรรณาธิการ – เศรษฐกิจเลือกตั้ง

เลือกตั้งส.ส. การต่อสู้แข่งขันทางการเมืองระดับชาติ กำลังจะมีขึ้นวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 หรืออีกราว 2 เดือนข้างหน้า มีผลต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมมากน้อยขนาดไหน อย่างไร

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วิเคราะห์ในประเด็นนี้ว่า ภายหลังประกาศยุบสภาวันที่ 20 มีนาคม และมีการคาดการณ์ว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งและเห็นโฉมหน้ารัฐบาลชุดใหม่ได้ในช่วงเดือนสิงหาคม

โดยในช่วงการหาเสียงของนักการเมืองและพรรคการเมือง คาดว่าจะมีเงินสะพัดอย่างน้อย 5-6 หมื่นล้านบาท และจะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม ราว 1-1.2 แสนล้านบาท

กระตุ้นเศรษฐกิจขึ้นร้อยละ 0.5 ถึงร้อยละ 0.7

ในช่วงรักษาการ รัฐบาลถูกจำกัดอำนาจด้านการใช้จ่ายงบประมาณและการอนุมัติโครงการบางอย่าง

แต่สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการคือ ให้ภาครัฐเร่งเบิกจ่ายงบประมาณที่ผูกพันการลงทุนตามแผนการใช้จ่ายปกติ เพื่อพยุงให้เศรษฐกิจเดินหน้า ซึ่งรัฐบาลสามารถทำได้

หากจะเกิดสุญญากาศทางเศรษฐกิจช่วงตั้งรัฐบาล เนื่องจากนโยบาย งบประมาณต่างๆ ยังอยู่ระหว่างการเสนอต่อรัฐสภา ในช่วงนั้นเป็นสถานการณ์ต้องจับตาว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี

หลายพรรคการเมืองต่างต้องการชัยชนะได้เป็นเสียงส่วนใหญ่จัดตั้งรัฐบาล ทำให้การเลือกตั้งจะเป็นการแข่งขันที่รุนแรง ดุเดือด เข้มข้น จะเกิดแลนด์สไลด์หรือไม่ การจัดตั้งรัฐบาลผสมมากพรรค น้อยพรรค

ปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อนโยบายเศรษฐกิจทั้งสิ้น

จากการสำรวจยังพบ แม้ส่วนใหญ่มองว่าการเลือกตั้งจะส่งผลบวกต่อธุรกิจ ทำให้มีเงินสะพัด ยอดขายสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น จากการหาเสียง และการลงพื้นที่ของผู้สมัคร รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นทางการเมือง

โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ในไตรมาส 4 หลังจากรัฐบาลใหม่ชัดเจนแล้ว

แต่มีผู้ประกอบการบางส่วนที่ยังเป็นกังวลเรื่องแนวนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ ที่อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการประกอบธุรกิจ เช่น นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ แนวนโยบายที่ไม่ต่อเนื่อง ความขัดแย้งทางการเมือง เสถียรภาพของรัฐบาล และการไม่มีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นที่ชัดเจน

ทั้งหมดคือเสียงสะท้อนจากภาคธุรกิจต่อการเมืองในช่วงก่อนและหลังเลือกตั้ง

ซึ่งทุกพรรคการเมืองที่กำลังเข้าสู่สมรภูมิชิงอำนาจต้องรับฟัง เพราะการเมืองกับเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ออก

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ