คอลัมน์ บทบรรณาธิการ
เมื่อจะนะกลับบ้าน
แม้ชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นยุติการชุมนุมใกล้ทำเนียบรัฐบาลและกลับบ้าน ไปแล้ว หลังคณะรัฐมนตรีมีมติให้ชะลอโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตไว้ก่อน และให้ศึกษาสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA อย่างโปร่งใส รอบคอบ เป็นที่ยอมรับ
ดังนั้นถือว่าการเริ่มต้นสัญญาเกิดขึ้นแล้ว และกลุ่มชาวบ้านมีแนวโน้มจะกลับมาทวงสัญญา หากขั้นตอนของรัฐหรือราชการยังเป็นแค่ “พิธีกรรม”
จะนะกลายเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง หลังจากต่อสู้มานานกับทุกรัฐบาลที่คิดเริ่มโครงการพัฒนา ที่เป็นคำถามด้านผลกระทบต่อชุมชนและ สิ่งแวดล้อม
ดังนั้นเมื่อชาวบ้านจะนะขยับการ ต่อสู้เมื่อใด จึงได้รับการสนับสนุนจาก ชาวบ้านด้วยกัน ไม่ว่าในท้องถิ่น ภูมิภาค หรือระดับประเทศ
เรื่องที่น่าสนใจในการต่อสู้ของชาวจะนะ คือ ชาวบ้านในพื้นที่ต่างต่อสู้ตามสิทธิของตนเอง แม้ว่าจะมีความเห็นที่แตกต่างกันสองฝ่าย
แต่สุดท้ายแล้วการตัดสินใจร่วมกันต้องมาจากกระบวนการที่ยุติธรรม เปิดกว้าง ตรงไปตรงมา ไม่มุบมิบโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือยึดการตัดสินใจจากอำนาจของส่วนกลาง
สำหรับเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เมื่อกลับบ้านแล้วยังมีกิจกรรมการถอดบทเรียนเกี่ยวกับการปกป้องทรัพยากรในพื้นที่อีกครั้ง ซึ่งถือเป็น กระบวนการสำคัญที่จะถ่ายทอดการต่อสู้ให้คน ในชุมชนอย่างทั่วถึงเท่าเทียมกัน
ขณะที่รัฐบาลก็ควรถอดบทเรียนจากกรณีจะนะด้วยเช่นเดียวกัน
เพราะยังมีโครงการของรัฐอีกมากมายที่จะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในชุมชนเล็กๆ ที่อาจไม่ได้เข้มแข็งเท่ากับจะนะ
บทเรียนเบื้องต้นที่ดูเหมือนรัฐบาลจะเข้าใจแล้วก็คือ โครงการพัฒนาต่างๆ ต้องให้ ชาวบ้านมีส่วนร่วมจริง
ไม่ใช่ฟังแต่รายงานจากหน่วยราชการ หรือใช้ข้ออ้างว่าโครงการนั้นๆ เป็นผลดีกับประเทศ โดยรวม แต่กลับมองข้ามเสียงเล็กๆ ของคน ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบตรง
โดยเฉพาะเมื่อโครงการแต่ละโครงการมีความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างหน่วยงานรัฐกับภาคประชาชน หรือระหว่างประชาชนกับประชาชนเอง
รัฐมีหน้าที่รับฟัง ไม่เลือกข้าง และไม่ใช้ ความรุนแรง