การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่อึดใจ สิ่งที่ประชาชนกังวลนอกเหนือจากการทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังมีความเป็นห่วงถึงกระแสการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย
หลังจากรองนายกรัฐมนตรีบางคนให้สัมภาษณ์ ประเมินโอกาสการเกิดรัฐบาลเสียงข้างน้อยภายหลังการเลือกตั้ง ว่าโดยมากแล้วรัฐบาลเสียงข้างน้อยนั้น ไม่ควรตั้ง แต่ถ้าหนีไม่พ้นแล้วจำเป็นต้องตั้ง ก็จะเป็นเสียงข้างน้อยอยู่ไม่กี่วัน และจะเป็นเสียงข้างมากขึ้นมาเอง
การจุดพลุเปิดประเด็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย เป็นผลมาจากการที่โพลหลายสำนักชี้ตรงกันว่า 2 พรรคฝ่ายประชาธิปไตยจะได้รับเลือกตั้ง ส.ส.มากที่สุด
พร้อมโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากตามระบอบประชาธิปไตย
กระแสการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ก่อให้เกิดเสียงคัดค้านไม่เห็นด้วยจากนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ภาคองค์กรด้านเศรษฐกิจ ตลอดจนประชาชนทั่วไปผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง
ด้วยมองว่าไม่เคารพเสียงประชาชน เป็นระบอบประชาธิปไตยไม่เต็มใบ
รัฐธรรมนูญปี 60 ให้อำนาจ ส.ว. 250 คนร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เปิดช่องให้พรรคฝ่ายอำนาจที่แต่งตั้ง ส.ว.ชุดนี้เข้ามา ถึงแม้จะแพ้เสียงพรรคฝ่ายประชาธิปไตยในสนามเลือกตั้ง
ก็ยังมีโอกาสใช้เสียง 250 ส.ว. เป็นทุนผนวกรวมกับ ส.ส.ในปีกพรรครัฐบาลเดิมในการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้
แต่สิ่งที่ฝ่ายอำนาจต้องตระหนักก็คือ ถึงจะตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้ ก็จะบริหารนำพาประเทศเดินหน้าไม่ได้
ภาคเอกชนผู้ประกอบการด้านเศรษฐกิจ มองว่า การฟอร์มทีมรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ต้องมาจากเสียงข้างมาก เพื่อความมีเสถียรภาพมั่นคง สร้างความเชื่อมั่นให้ทุกภาคส่วนในสังคม
เนื่องจากพรรคเสียงข้างมากมาจากเสียงประชาชน ที่ต้องเคารพ หากฝืนตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยโดยการสนับสนุนของ ส.ว. จะเกิดปัญหาในอนาคต เพราะแม้ ส.ว.จะมีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ไม่มีอำนาจโหวตผ่านงบประมาณ รวมถึงมีผลต่อการยอมรับของนานาชาติประชาธิปไตยบนเวทีโลก
เสถียรภาพทางการเมืองหลังเลือกตั้ง ไม่เพียงเป็นหัวใจของภาคเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลเสียงข้างน้อยไม่สามารถตอบโจทย์ข้อนี้ได้
ที่สำคัญการบิดเบือนเจตนารมณ์ประชาชน นำมาซึ่งวิกฤตความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองรอบใหม่อีกด้วย