เป็นอันชัดเจนสำหรับญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151
ล็อกเป้าไว้ที่รัฐมนตรี 1+10 คนจาก 3 พรรคแกนหลักรัฐบาล ได้แก่ พลังประชารัฐ 6 คน นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลฯ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง
ภูมิใจไทย 2 คน คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข กับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ประชาธิปัตย์ 2 คน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมฯ และนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย
ฝ่ายค้านตั้งชื่อศึกอภิปรายครั้งนี้ว่ายุทธการ “เด็ดหัว สอยนั่งร้าน”
หากนับตามปฏิทินรัฐบาลชุดนี้เหลือเวลาอีก 9 เดือนก่อนครบวาระเดือนมีนาคม 2566 การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้จึงเป็นครั้งสุดท้ายทั้งของฝ่ายค้านและรัฐบาล
ศึกใหญ่ครั้งนี้ฝ่ายค้านกำหนดยุทธศาสตร์วางน้ำหนักไปที่พี่น้อง 3 ป. โดยเฉพาะพล.อ.ประยุทธ์ ตามข้อกล่าวหาในญัตติ น่าจะโดนหนัก ไม่ว่าขาดความซื่อสัตย์สุจริต ไร้องค์ความรู้ ไร้ความสามารถ ไร้ประสิทธิภาพ ไร้จิตสำนึกรับผิดชอบ ขาดความเป็นผู้นำ พิการทางความคิด ยึดติดอำนาจ ฯลฯ
ส่วนนั่งร้าน 8 คนที่เหลือ ส่วนใหญ่ข้อหาคล้ายคลึงกัน เช่น บริหารงานผิดพลาดบกพร่อง ล้มเหลว ทุจริตประพฤติมิชอบต่อหน้าที่ เอื้อประโยชน์พวกพ้อง ปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นต้น
การที่ฝ่ายค้านตั้งข้อหาความผิดฉกาจฉกรรจ์ไว้เช่นนี้ถึงเวลาจริงเนื้อหาจะตรงปกหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป
มีข้อน่ากังวลว่าศึกอภิปรายครั้งนี้อาจเกิดอุปสรรคเงื่อนไขเวลา เนื่องจากรัฐสภามีร่างกฎหมายพิจารณาค้างอยู่ทั้งร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และร่างพ.ร.ป.เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับ
ฝ่ายค้านเกรงจะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องประวิงเวลาในการกำหนดวันอภิปราย
หรือหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองไม่ว่ายุบสภา นายกฯ ถูกโหวตไม่ไว้วางใจ โดยที่กฎหมายลูก 2 ฉบับยังไม่แล้วเสร็จ จะทำให้การเมืองเดดล็อกทันที
การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นกระบวนการตรวจสอบรัฐบาลวิธีหนึ่ง บัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 151 เป็นการใช้อำนาจสภาผู้แทนฯ ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี
รัฐบาลในฐานะผู้ถูกตรวจสอบต้องยอมรับกระบวนการนี้ ไม่ควรดึงถ่วงรั้ง ซื้อเวลาต่ออายุอำนาจเพื่อประโยชน์ตนเองใดๆ ทั้งสิ้น