นับเป็นข่าวร้ายรับวันแรงงาน 1 พฤษภาคม เมื่อศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้า เปิดเผยผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทยในปัจจุบันทั่วประเทศ 1,260 ตัวอย่าง ในกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท/เดือน ทั้งที่อยู่ในระบบและนอกระบบประกันสังคม
พบว่าร้อยละ 99 มีภาระหนี้สิน ส่วนใหญ่มาจากการนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รองลงมาคือ หนี้บัตรเครดิต หนี้ที่อยู่อาศัย ยานพาหนะ ค่ารักษาพยาบาล โดยในส่วนหนี้บัตรเครดิต จะนำไปใช้ในการอุปโภคบริโภค ซื้อสินค้า ใช้หนี้เดิม ซื้อสินค้าคงทน ค่าเล่าเรียน เป็นต้น
เฉลี่ยแล้วมีหนี้สินมากถึงครัวเรือนละ 217,952 บาท สูงสุดในรอบ 14 ปีตั้งแต่มีการสำรวจมา
สําหรับประเภทหนี้สิน แบ่งเป็นหนี้ในระบบ ร้อยละ 68.9 หนี้นอกระบบ ร้อยละ 31.1 นอกจากนี้ในจำนวนแรงงานที่มีภาระหนี้สิน จำนวนร้อยละ 31.5 ระบุว่าได้ผิดนัดชำระหนี้ สาเหตุที่ผิดนัดเพราะมีหนี้เยอะ ค่าครองชีพสูงขึ้นทำให้รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย
ส่วนความกังวลของแรงงานไทยปัจจุบัน ส่วนใหญ่มีความกังวลในเรื่องของเศรษฐกิจ และราคาสินค้าในอนาคต เนื่องจากระดับราคาสินค้าในปัจจุบันกระทบต่อการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มมีรายได้ 5,000-10,000 บาท/เดือน ส่งผลให้เงินสะพัดในวันหยุดแรงงาน 1 พฤษภาคมปีนี้ จะอยู่ที่ 1,525 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 14.9
เนื่องจากค่าครองชีพสูงทำให้มีเงินใช้จ่ายน้อยกว่ารายได้ที่ได้รับ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์ฯ กล่าวถึงข้อเรียกร้องให้รัฐปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 492 บาททั่วประเทศ ว่า มีโอกาสเกิดได้ค่อนข้างยาก เพราะเป็นการปรับขึ้นถึงร้อยละ 10-20 จะส่งผลกระทบทันทีต่อสภาพคล่องของนายจ้าง ที่อาจต้องปรับลดคนงาน และปรับขึ้นราคาสินค้า
ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 336 บาท หากจะปรับขึ้นจึงไม่ควรเกินอัตราร้อยละ 3-5 สอดคล้องกับประมาณการเงินเฟ้อในปีนี้ ซึ่งเป็นข้อแนะนำทางวิชาการที่ต้องรับฟัง
แต่สิ่งที่สังคมทวงถามคือ ในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคการเมืองซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลปัจจุบัน ได้หาเสียงด้วยนโยบายเพิ่มค่าจ้างและค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาท/วัน, จบอาชีวะ เงินเดือนเริ่มต้น 18,000 บาท จบปริญญาตรี เริ่มต้น 20,000 บาท
ตอนนี้ผ่านมา 3 ปี พรรคแกนนำรัฐบาลยังไม่สามารถทำได้ตามที่หาเสียงไว้ โดยเฉพาะเรื่องค่าแรงที่เป็นปัญหาของประชาชนชั้นล่างซึ่งควรได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน