ตั้งแต่เดือนก.ย.เป็นต้นไป ประชาชนมีภาระค่าใช้จ่าย ค่าครองชีพสูงขึ้นอีกขั้น เริ่มจากกระทรวงพาณิชย์อนุญาตให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 3 ยี่ห้อหลัก ขึ้นราคาอีกซองละ 1 บาท
ขณะที่ก๊าซแอลพีจี หรือก๊าซหุงต้ม ขึ้นอีกกิโลกรัมละ 1 บาท ขนาดถัง 15 กิโลกรัม จากเดิม 393 บาท ขยับเป็น 408 บาท เป็นราคาก๊าซหุงต้มแพงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ และย่อมส่งผลต่อราคาอาหารต่างๆ ขึ้นตามไปด้วย
เช่นเดียวกับค่าไฟฟ้า ตั้งแต่รอบเดือนก.ย.-ธ.ค. ขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟที อีก 68.66 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย เพิ่มขึ้นเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ จากงวดก่อนหน้าอยู่ที่ 4 บาทต่อหน่วย
แม้รัฐบาลจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในวันที่ 1 ต.ค. แต่ภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนขยับไปรอก่อนแล้ว และมีแนวโน้มจะขึ้นราคาตามมาอีกหลายรายการ
ที่น่าเป็นห่วงคือค่าไฟฟ้า ซึ่งเกี่ยวข้องกับราคาพลังงานที่สูงขึ้น จนกลายเป็นวิกฤตใหญ่ขณะนี้ จากเดิมมีทีท่าว่ารัฐบาลจะเกลี่ยงบช่วยเหลือค่าไฟฟ้าในช่วง 4 เดือน ลดภาระประชาชน สุดท้ายต้องยืดออกไป เพราะงบมีจำกัด
จากการสำรวจของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นห่วงค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้นจะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน และต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม
เนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจะถูกส่งต่อไปยังราคาสินค้าและวัตถุดิบ ตามต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงขึ้น รวมทั้งส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน
ค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น จะทำให้ผู้ประกอบการมีความจำเป็นต้องปรับราคาสินค้าและบริการ เพิ่มขึ้นอีก 10 เปอร์เซ็นต์ภายในปลายปีนี้
สำหรับมาตรการบรรเทาผลกระทบจากค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นนั้น มีข้อเสนอจากภาคเอกชนขอให้รัฐบาลทยอยปรับขึ้นค่าไฟฟ้าไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ต่องวด งวดละ 4 เดือน
โดยทำควบคู่ไปกับมาตรการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มผู้มีรายน้อย และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม เช่น ลดค่าไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าผลกระทบจากค่าไฟฟ้าจะสูงต่อเนื่องยาวไปถึงปี 2566
ส่วนระยะยาวนั้น ให้ทบทวนโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ให้เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ปรับลดขั้นตอนให้เอกชนลงทุนโรงไฟฟ้าเพื่อให้เกิดการแข่งขันเสรี ปรับลดขั้นตอนขออนุญาตใช้อุปกรณ์พลังงานหมุนเวียนในภาคธุรกิจและเอกชน ให้สะดวกรวดเร็วและต้นทุนต่ำ
วิกฤตค่าครองชีพ และต้นทุนของผู้ประกอบการที่สูงขึ้น รัฐบาลต้องตระหนัก รวมถึงรับฟังข้อเสนอเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา