บทบรรณาธิการ – วงจรความรุนแรง 

Home » บทบรรณาธิการ – วงจรความรุนแรง 


บทบรรณาธิการ – วงจรความรุนแรง 

วงจรความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ยังคงซ้ำซาก เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ก.ค. เจ้าหน้าที่ปิดล้อมตรวจค้น และนำไปสู่การวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องหา 2 ศพ

เจ้าหน้าที่ระบุได้สืบสวนทราบว่ามีกลุ่มผู้ก่อเหตุหลบหนีเข้ามาหลบซ่อนในบ้านเช่า ต.สะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา จึงนำกำลังเข้าบังคับใช้กฎหมาย พิสูจน์ทราบ และตรวจค้น

ระหว่างนั้นผู้ก่อเหตุใช้อาวุธปืนยิงใส่ เจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องยิงป้องกันตัว ทั้งที่ได้พยายามพูดคุยเกลี้ยกล่อมด้วยความอดทน อดกลั้นอย่างเต็มที่แล้ว แต่ผู้ก่อเหตุกลับเลือกใช้ความรุนแรง

การใช้มาตรการเข้มข้นดังกล่าวเกิดขึ้นในย่านชุมชนเมือง มีบ้านเรือนจำนวนมาก โชคดีไม่มีประชาชนถูกลูกหลงบาดเจ็บ หรือล้มตาย

กรณี 2 รายนี้ นับเป็นผู้ต้องหาคดีความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ถูกปิดล้อมตรวจค้น นำไปสู่การจับตายรวมเป็น 7 รายแล้วในรอบเดือนกรกฎาคม

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาช่วง 3 วัน มีผู้ต้องหาถูกจับตาย 5 ราย เริ่มจากเหตุการณ์ ต.คลองมะนิง อ.เมือง จ.ปัตตานี 1 ราย, ต.สากอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส 2 ราย และ ต.เนินงาม อ.รามัน จ.ยะลา 2 ราย

แม้ฝ่ายรัฐชี้แจงถึงความจำเป็นต้องตอบโต้เพื่อป้องกันตัว ใช้มาตรการจากเบาไปหาหนักแล้วก็ตาม แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าในพิธีศพผู้ถูกจับตาย มีชาวบ้านจำนวนมากไปร่วมอาลัย และแสดงความคับข้องต่างๆ นานา

ผู้ถูกจับตาย 2 ราย จ.ยะลา ก็เกิดเหตุการณ์แบบเดียวกัน ย่อมเป็นสัญญาณไม่ดี และยากที่จะสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่

นับตั้งแต่รัฐประหาร 2557 จนถึงรัฐบาลเลือกตั้งผ่านกลไกสืบทอดอำนาจ รวม 8 ปีที่ใช้นโยบายการทหารนำการเมืองเพื่อแก้ปัญหาไฟใต้ แต่ก็ไม่มีแนวโน้มจะสงบสุข

กลับกลายเป็นยิ่งปราบยิ่งถูกต่อต้าน ตอบโต้ กลายเป็นวงจรความรุนแรง ทั้งที่การแก้ปัญหาไฟใต้เคยพิสูจน์มาแล้วระดับหนึ่ง ถ้าจะให้คลี่คลายต้องใช้การเมืองนำการทหาร หรือเปิดพื้นที่เจรจาอย่างปลอดภัย

แต่ด้วยนโยบายรัฐบาลปัจจุบัน ทั้งพรรคการเมืองแกนนำ พรรคร่วม ยังไม่ชัดเจนต่อการเมืองนำการทหาร เพื่อแก้ปัญหาไฟใต้ในระยะยาวยั่งยืน

ดังนั้นในการเลือกตั้งใหญ่ที่ใกล้เข้ามา ประชาชนจะได้ตัดสินใจอีกครั้ง เลือกพรรคการเมืองที่ไม่ใช้การทหารนำ แก้ปัญหาไฟใต้โดยยึดหลักสันติภาพ ตัดวงจรความรุนแรง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ