บทบรรณาธิการ – ร่วมกันกดดันส.ว.

Home » บทบรรณาธิการ – ร่วมกันกดดันส.ว.


บทบรรณาธิการ – ร่วมกันกดดันส.ว.

ความเป็นไปได้ของนโยบายพรรคการเมืองต่างๆ ที่ใช้หาเสียงจูงใจประชาชนเลือกผู้สมัครส.ส.และพรรคของตนเข้าไปเป็นรัฐบาล เกี่ยวข้องกับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน ที่ถูกมองเป็นมรดกของอดีต คสช. อย่างไรนั้น

ผศ.ดร.ธร ปีติดล ผอ.ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ (CRISP) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ระบุว่า นโยบายที่พรรคการเมืองใช้หาเสียงอยู่ขณะนี้ ส่วนใหญ่เน้นด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤตโควิด-19

เป็นเหตุให้พรรคต่างๆ พยายามเสนอนโยบายเรื่องปากท้อง ซึ่งประชาชนจับต้องได้ที่สุด

นโยบายด้านสวัสดิการ ส่วนใหญ่เน้นที่การสร้างระบบบำนาญสำหรับผู้สูงอายุ เงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย นโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อยกระดับรายได้คนทั่วประเทศ เป็นต้น

ทุกนโยบายหาเสียงไม่อาจเหมารวมเป็นประชานิยมได้ โดยเฉพาะนโยบายเน้นพัฒนาระบบสวัสดิการ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

การใช้งบประมาณเป็นเรื่องปกติในการจัดทำนโยบาย แต่คำถามคือสุดท้ายจะใช้ได้มากเพียงใด แนวทางจัดสรรเงินให้นโยบายต่างๆ เหมาะสมหรือไม่

นโยบายที่ช่วยขยายระบบสวัสดิการของรัฐเป็นสิ่งดี ไม่ว่าสวัสดิการผู้สูงอายุ จำกัดอำนาจทุนผูกขาด การทำให้ค่าแรงเหมาะสมกับค่าครองชีพ สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา เพิ่มการดูแลเด็กเล็กขาดโอกาส ทั้งหมดนี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

แต่อุปสรรคใหญ่ที่น่าเป็นห่วงคือ พรรคที่ชนะเลือกตั้งสูงสุดยังต้องเผชิญกับด่านในการทำนโยบายให้ออกมาได้จริง ที่นอกจากงบประมาณที่อาจไม่เพียงพอ ยังมีระบบการเมืองที่ 250 ส.ว.มีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้การเมืองเกิดความไม่แน่นอน พรรคที่ชนะเลือกตั้งอาจไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล

ทางออกก็คือ สังคมต้องช่วยกันกดดันส.ว. ให้ยึดหลักการสำคัญที่ว่า ถ้าพรรคที่ประชาชนเลือกได้อันดับ 1 ต้องการจัดตั้งรัฐบาล ส.ว.ไม่ควรสนับสนุนคนจากพรรคอื่นเข้ามาแทน

ยังมีปัญหาที่ควรตระหนักอีกว่า หากเลือกนายกฯ ที่มาจากเสียงข้างน้อย จะมีปัญหาทางเสถียรภาพรัฐบาล อาจกลายเป็นวิกฤตการเมืองที่ต้องไปแก้กันนอกระบบ ส่งผลให้ประเทศเกิดปัญหาไม่จบสิ้น

หนทางการปรับปรุงทิศทางนโยบายแก้ไขความเหลื่อมล้ำในประเทศหลังจากนี้ ในกรณีได้รัฐบาลใหม่ อาจต้องเริ่มจากการรื้อมรดกบางประการจากรัฐบาลเก่าโดยเฉพาะข้อผูกมัดหลายรูปแบบที่วางไว้ มิฉะนั้นถึงได้รัฐบาลใหม่ก็อาจเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้มาก

เพราะยังมีกลไกถูกวางไว้ ที่ไม่เอื้อให้พรรครัฐบาลใหม่บริหารจัดการทุกอย่างได้ง่าย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ