คดี “แอม ไซยาไนด์” ที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมต่อเนื่อง ด้วยการวางยาพิษเหยื่ออย่างน้อย 10 ราย และอยู่ระหว่างสอบสวนขยายผลจำนวนผู้เคราะห์ร้ายที่อาจถึงหรือเกินกว่า 20 ราย
เป็นอาชญากรรมสะเทือนขวัญที่ทำให้เกิดคำถามมากมาย โดยเฉพาะสาเหตุหรือแรงจูงใจ
นอกจากข้อสันนิษฐานว่าผู้ต้องหาประสงค์ต่อทรัพย์ หรือต้องการล้างหนี้กับเหยื่อแต่ละราย ประเด็นจิตใจของผู้ต้องหาเป็นหัวข้อหนึ่งที่ผู้คนตั้งคำถามว่า ทำไมถึงได้ลงมืออย่างต่อเนื่องหลายปี และมีเหยื่อมากมายขนาดนี้
คำอธิบายสาเหตุของความต่อเนื่องส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการรอดพ้นข้อสงสัยมาเรื่อยๆ หรือลงมือแล้วไม่มีใครจับได้
ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยา ระบุว่า ผู้ลงมืออาจมีบุคลิกภาพต่อต้านสังคม หรือ Anti-social หมายถึงผู้ที่ไม่มีคุณธรรม ไม่คำนึงถึงความรู้สึกของคนอื่น และใช้ความปรารถนาของตัวเองเป็นศูนย์กลาง
การที่เหตุการณ์นี้มาถึงจุดพลิกผันได้นั้น เนื่องจากญาติของผู้เสียชีวิตชื่อก้อย ไม่เชื่อว่าความตายของหญิงสาวเป็นเรื่องปกติ จึงร้องเรียนให้มีการตรวจสอบ กระทั่งพบพิรุธและหลักฐาน นำไปสู่การสอบสวนกรณีอื่นๆ
แม้ขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินคดีผู้ต้องหาได้รวมทั้งสิ้นเท่าใด แต่อย่างน้อยคดีของก้อยได้ช่วยยุติเหตุเลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นกับเหยื่อรายอื่นๆ ในอนาคต
จุดสำคัญของเรื่องนี้จึงเป็นตัวอย่างของการยุติความต่อเนื่อง
หากเปรียบเทียบกับกรณีทางการเมืองที่มีเหตุการณ์วางยาพิษประชาธิปไตยมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2476 ถึงปัจจุบันเกิดเหตุการณ์มากถึง 13 ครั้ง ครั้งหลังสุดในเดือนพฤษภาคม 2557
โดยยังไม่ถึงจุดพลิกผันที่จะทำให้ความต่อเนื่องยุติลงได้ เพราะผู้ลงมือวางยาพิษไม่เคยถูกดำเนินคดีหรือถูกลงโทษใดๆ
ความระทึกขวัญที่คนไทยอาจถูกวางยาพิษประชาธิปไตยอีกจึงยังคงอยู่
ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีบางพรรคการเมืองนำเสนอนโยบายดำเนินคดีกับผู้ก่อรัฐประหารซึ่งแม้ว่าในทางปฏิบัติต้องอาศัยปัจจัยหลายด้านจึงจะเป็นจริงได้
แต่การถกเถียงถึงประเด็นนี้น่าจะขับเคลื่อนให้ไปต่อ เพื่อให้เกิดการยุติพิษต่อเนื่องในที่สุด