บทบรรณาธิการ – ป้ายสถานี 33 ล้าน

Home » บทบรรณาธิการ – ป้ายสถานี 33 ล้าน


บทบรรณาธิการ – ป้ายสถานี 33 ล้าน

ป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง กรณีการรถไฟแห่งประเทศไทย ใช้เงินจำนวน 33 ล้านบาท เปลี่ยนป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

สังคมออนไลน์ต่างนำมาล้อเลียนไปในทางตลกขบขันและเสียดสี ด้วยข้อความต่างๆ นานา ล้วนแต่สะท้อนความสงสัยว่าโครงการนี้ มีความซื่อตรง โปร่งใส เป็นไปเพื่อประโยชน์ประชาชนหรือไม่

รวมถึงข้อสงสัยอื่นๆ ว่ามีความไม่ชอบมาพากลใดๆ ซุกซ่อนอยู่ หรือเอื้อประโยชน์แก่บริษัทเอกชนผู้ได้รับการประมูลงาน รวมถึงผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทยด้วยหรือไม่

รื่องนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย ยืนยันว่าทำตามระเบียบขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอย่างเคร่งครัด คำนึงถึงประโยชน์ในการใช้งาน ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม เหมาะสมกับศูนย์กลางการเดินทางระบบรางที่ดีที่สุด

อีกทั้งชี้แจงเพิ่มเติมข้อสังสัยรายละเอียดและค่าใช้จ่ายสำหรับตัวอักษร 112 ตัว กับอีก 2 ตราสัญลักษณ์ว่ารวมเอางานรื้อถอน การเปลี่ยนผนังกระจก โครงผนังกระจกอะลูมิเนียม การจัดทำระบบไฟแสงสว่างไปด้วย

รวมถึงค่าการออกแบบด้านวิศวกรรมโครงสร้าง รูปแบบการติดตั้งที่เกี่ยวข้องกับการรื้อถอนของเดิม การติดตั้งของใหม่ทั้งหมดที่กระทบต่อโครงสร้างของอาคารสถานี

แต่ไม่ว่าจะชี้แจงอย่างไร ดูเหมือนจะไม่ทำให้เกิดความเข้าใจที่ดีขึ้น เพราะที่ผ่านมาการบริหารกิจการรถไฟประสบกับการขาดทุนและมีหนี้สินรวมถึง 2 แสนล้านบาท

ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตอบกระทู้ถามสดของสภาว่าโครงการนี้ไม่มีอะไรต้องปกปิด เมื่อผลการตรวจสอบออกมาจะรายงานให้ประชาชนทราบแน่นอน พร้อมระบุว่าการเปลี่ยนชื่อนั้น เป็นประเพณีปฏิบัติ

ก่อนหน้านี้ ก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตและให้ข้อท้วงติงว่าถ้าคิดจะขอพระราชทานชื่อสถานีเสียใหม่ ก็ไม่ควรจัดทำป้ายให้ถาวรตั้งแต่แรกมิใช่หรือ จะได้ไม่เสียเงินงบประมาณถึงสองรอบ

อย่างไรก็ตาม แม้กระทรวงคมนาคมจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบแล้วก็ตาม แต่ก็ยังเป็นที่สงสัยและมีประชาชนสนใจอยากรู้ข้อเท็จจริงอย่างกว้างขวาง

การตั้งคณะกรรมการกันเอง ตรวจสอบกันเอง และสรุปผลกันเอง โดยไม่มีกรรมการอื่นที่เป็นกลางและน่าเชื่อถืออยู่ด้วย จะทำให้ข้อกังขาปลาสนาการได้อย่างไร

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ